Marumura Travel : วางแผนเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง :
  • Home
  • Kyoto
  • Tohoku
Marumura Travel : วางแผนเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง :
Marumura Travel : วางแผนเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง :
  • Home
  • Kyoto
  • Tohoku
  • ข้อมูลเที่ยวญี่ปุ่น

เล่าเรื่องเมื่อป้าหมวยยยป่วยที่ญี่ปุ่น

  • 16/01/2020
  • 1 minute read
  • ป้าหมวยยย

ราว ๆ ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาป้าหมวยยยไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วมีเหตุการณ์เจ็บป่วยเบา ๆ ตั้งแต่ต้นทริป เลยลัดคิวเอาประสบการณ์ในการหาหมอที่ญี่ปุ่นและการเคลมประกันเดินทางมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

บทความโดย : ป้าหมวยยย www.marumura.com

สวัสดีค่ะ

ราว ๆ ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาป้าหมวยยยไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วมีเหตุการณ์เจ็บป่วยเบา ๆ ตั้งแต่ต้นทริป เลยลัดคิวเอาประสบการณ์ในการหาหมอที่ญี่ปุ่นและการเคลมประกันเดินทางมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ขอออกตัวว่า เป็นประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ ในสถานการณ์จริงของท่านอื่น ๆ อาจจะแตกต่างจากนี้

ก่อนอื่น ป้าขอยืนยันว่า “ประกันการเดินทาง” เป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศค่ะ ขอให้ตั้งความสำคัญเทียบเท่ากับพาสปอร์ตที่ทุกคนต้องมีเลยทีเดียว

ป้าอยากให้ทุกคนทำประกันการเดินทางไว้แม้แต่ในแพคเกจต่ำที่สุด ราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท เจ็บป่วยมากน้อยหรือเกิดเหตุไม่คาดคิด ประกันการเดินทางอาจช่วยผ่อนหนักให้เบาลงเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในต่างประเทศสูงมากค่ะ

มีข่าวออกมาให้ได้ยินเรื่อย ๆ ที่ว่า มีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศโดยไม่ได้ทำประกันการเดินทางไว้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยหนักโดยไม่คาดคิด ต้องเข้ารักษาตัวที่ต่างประเทศแล้วทางครอบครัวต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงลิ่ว คิดเป็นเงินไทยนับแสนนับล้านบาท คงไม่อยากให้ครอบครัวต้องประสบเหตุการณ์แบบนี้ใช่ไหมคะ

แม้แต่การเดินทางกับบริษัททัวร์ก็ควรทำประกันการเดินทางไว้เช่นกัน เพราะปกติประกันที่ทางบริษัททัวร์ทำให้ ส่วนใหญ่จะเป็นประกันกรณีเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นค่ะ

เมื่อทำประกันการเดินทางแล้ว ควรพิมพ์เอกสารไว้กับตัวขณะเดินทาง 1 ชุด และส่งให้คนในครอบครัวอีก 1 ชุดไว้อ้างอิงเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ควรมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้ติดต่อในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้ติดตัวไว้สักเครื่องค่ะ ถ้าเป็นแบบเติมเงินก็ควรเติมเงินให้เพียงพอสำหรับโทรออกและรับสาย

ป้าหมวยยยทำประกันการเดินทางทุกครั้ง มีไว้เดินทางอุ่นใจ เท่าที่เดินทางมายังไม่เคยมีเหตุให้เรียกร้องสินไหม (จริง ๆ ไม่อยากให้มีเลย) แต่ครั้งนี้จำเป็นค่ะ

คือป้าเริ่มมีอาการเจ็บคอบนเครื่องระหว่างเดินทางไปญี่ปุ่นค่ะ เจ็บแบบเหมือนมีไฟสุมอยู่ในลำคอ เวลาผ่านไปก็ยังไม่ดีขึ้น กลืนน้ำและอาหารลำบาก เริ่มมีน้ำมูกด้วย

จนเดินทางมาถึงฟุกุโอกะ ปกติวันแรกที่มาถึงป้าจะเซ็ตโปรแกรมเที่ยวไว้หลวม ๆ เผื่อไฟลท์ดีเลย์ แต่ทริปนี้ไฟลท์มาถึงตรงตามเวลา แถมผ่าน Immigration และรับกระเป๋าได้เร็วกว่าที่คิดมาก ป้าเลยคิดว่าไปหาหมอเสียแต่ตอนนี้เลยดีกว่า

ทริปของป้าเป็นการเดินทางไปชนบทเกือบทั้งหมดซึ่งจะหาสถานพยาบาลยากหน่อย แต่ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ตัวเลือกสถานพยาบาลจะเยอะกว่ามาก และน่าจะมีปัญหาการสื่อสารน้อยกว่า ที่สำคัญป้าเดินทางคนเดียว ควรรักษาให้หายเร็ว ๆ ก่อนที่จะเป็นหนักกว่านี้

จากนี้ป้าหมวยยยทำเป็น Q&A และยกตัวอย่างเคสของป้านะคะ

Q: ป่วยตอนไปเที่ยว ต้องหาหมอ เสียค่าใช้จ่ายไหม เห็นบางบริษัทประกันโฆษณาว่าเจ็บป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย

A: เบื้องต้นให้เช็คเงื่อนไขกับบริษัทประกันค่ะ บางบริษัทก็ถูกครึ่งเดียวตามที่เขาโฆษณาไว้ ที่ไม่ต้องสำรองจ่าย คือ เคสผู้ป่วยในที่ต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลและมักมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับเคสผู้ป่วยนอก ผู้เดินทางรักษาในคลินิกหรือโรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วเตรียมเอกสารมาเคลมบริษัทประกันทีหลัง แต่บางบริษัทโฆษณาว่าไม่ต้องสำรองจ่ายทั้งเคสผู้ป่วยนอกและเคสผู้ป่วยในก็มี แต่ต้องเข้ารักษากับโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตรกันเท่านั้นค่ะ

กรณีผู้ป่วยใน เคสเจ็บป่วยหนักให้ติดต่อกับบริษัทประกันก่อน ถ้าบริษัทมีผลประโยชน์เข้ารักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย บริษัทประกันจะช่วยประสานกับโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตรให้ ทั้งในเรื่องการหาโรงพยาบาล การนัดหมายรถพยาบาลหากจำเป็น การเข้ารักษาตัว ไปจนถึงค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ถ้ากรณีฉุกเฉินจริง ๆ พาไปเข้าโรงพยาบาล แล้วปรากฏว่าโรงพยาบาลนั้นไม่ได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันก็อาจต้องสำรองจ่ายไปก่อนค่ะ

My case: ป้าหมวยยยแค่เจ็บคอมีน้ำมูกเท่านั้นไม่ถึงกับต้องเป็นผู้ป่วยใน ทำประกันเดินทางกับบริษัทประกันญี่ปุ่น ที่ไม่มีผลประโยชน์พิเศษเรื่องค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยนอกจึงต้องสำรองจ่ายไปก่อนค่ะ

Q: หาโรงพยาบาลหรือคลินิกยังไง

A: ขอแนะนำเว็บไซท์ของ Japan National Tourism Association (JNTO) https://www.jnto.go.jp/emergency/eng/mi_guide.html เพื่อเช็คสถานพยาบาลที่รองรับชาวต่างประเทศของแต่ละพื้นที่ค่ะ

เล่าเรื่องเมื่อป้าหมวยยยป่วยที่ญี่ปุ่น

เว็บไซท์แนะนำข้อมูลเมื่อประสบเหตุต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลของ JNTO

หากไม่สะดวกไปที่สถานพยาบาล ให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของ Tourist Information หรือเจ้าหน้าที่โรงแรมเพื่อขอข้อมูลคลินิก สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือใช้ Google Map หาคำว่า Medical Clinic (内科クリニック / 診療所 Naika Clinic / Shinryousho) หรือ Hospital (病院 Byou-in) ก็จะขึ้นมาหลายแห่ง แล้วขอร้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยติดต่อให้ก่อนจะดีมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องเช็คเวลาทำการและนัดหมายก่อนค่ะ

สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะถามคือ อาการเจ็บป่วยและประกันการเดินทาง อย่างไรก็ตาม แม้มีประกันการเดินทาง (旅行保険 Ryokou Hoken) แต่เคสการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (外来診療 Gairaishinryou) ในเงื่อนไขที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนนั้น ทางญี่ปุ่นจะมองว่า “ไม่มีประกัน” ค่ะ

แต่ถ้าบริษัทประกันรองรับการรักษากรณีผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องสำรองจ่ายในสถานพยาบาลที่เป็นพันธมิตร ให้โทรสอบถามบริษัทว่ามีโรงพยาบาลพันธมิตรอยู่ใกล้เคียงหรือไม่ แล้วค่อยขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ Tourist Information หรือของโรงแรมให้ช่วยติดต่อไปโดยอ้างอิงเอกสารประกันที่เอาติดตัวไปด้วย

My case: ป้านั่งรถบัสจากสนามบินไปลงแถว Tenjin ไปฝากกระเป๋าเลยหาโรงพยาบาลหรือคลินิกแถว ๆ นั้นค่ะ ลองเช็คเว็บ JNTO มีโรงพยาบาลที่รองรับชาวต่างชาติอยู่ใกล้ ๆ ก็จริง แต่วันนั้นเป็นวันปิดทำการพอดี เลยลอง Walk-in ไปที่โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง แต่คุยกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าที่นี่ค่าใช้จ่ายสูง ค่าใบรับรองแพทย์ก็แพง และน่าจะใช้เวลารอนาน ขอแนะนำให้ไปคลินิกใกล้ ๆ คือ Minato Medical Clinic โดยเขาช่วยโทรติดต่อทางนั้นให้ว่า ตอนนี้สะดวกรับผู้ป่วยไหม ซึ่งทางนั้นแจ้งว่ารับได้ ป้าก็เดินไปโดยมีระยะห่างประมาณ 5 นาทีค่ะ

เล่าเรื่องเมื่อป้าหมวยยยป่วยที่ญี่ปุ่น

Minato Medical Clinic ที่ป้าหมวยยยเข้า

Q: เข้าคลินิกไปแล้วทำยังไงบ้าง

A: ถ้านัดแนะกันไว้แล้ว เขาจะถามอาการเบื้องต้น และย้ำเรื่องประกันอีกรอบ จากนั้นก็จะเอาใบบันทึกข้อมูลอาการเจ็บป่วยมาให้กรอกรายละเอียด ถ้าคลินิกรองรับต่างชาติในระดับหนึ่งก็จะใช้ใบบันทึกที่มีภาษาอังกฤษประกอบ เอาปรอทมาให้วัดไข้ เป็นต้น **ได้ปรอทวัดไข้มา สอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนนะคะว่าให้วัดทางไหน ที่ไทยมักใช้ปรอทวัดทางปาก แต่ที่ญี่ปุ่นดูเหมือนนิยมให้วัดทางรักแร้ค่ะ**

รายละเอียดในใบข้อมูล นอกจากเรื่องประวัติส่วนตัวจะถามเรื่องอาการ ระยะเวลาที่มีอาการนานเท่าไร ประวัติแพ้อาหาร/ยา/แมลง ยาที่กำลังกินอยู่ การตั้งครรภ์ ประวัติการเจ็บป่วยก่อนหน้า เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยโรคค่ะ

**อย่าลืมบอกเจ้าหน้าที่ด้วยว่า ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ 診断書 (Shindansho)** อันนี้สำคัญมากค่ะสำหรับเคสผู้ป่วยนอก ไม่มีอาจมาทำเคลมทีหลังไม่ได้ สำหรับภาษาที่คุณหมอเขียนในใบฯ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็น่าจะมีปัญหาน้อยกว่าในการเบิกกับบริษัทประกันทั่วไปในไทย ถ้าใช้บริการบริษัทประกันญี่ปุ่นให้คุณหมอเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ได้ (แนะนำให้โทรสอบถามกับบริษัทประกันก่อน)

My case: ป้าไปถึง Minato Medical Clinic เจ้าหน้าที่ที่รับโทรศัพท์เบื้องต้นไว้ออกมาต้อนรับ แล้วเอาใบบันทึกข้อมูลอาการเจ็บป่วยภาษาญี่ปุ่นควบอังกฤษมาให้กรอก เอาปรอทมาให้ป้าวัดไข้ด้วยตัวเอง ป้าไม่แน่ใจว่าใช้วัดทางปากรึเปล่าเลยถามเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาชี้มาที่รักแร้ค่ะ (ดีนะที่ถามก่อน) วัดไข้เสร็จก็เอาปรอทไปให้เขา

ตัวอย่างใบข้อมูลบันทึกอาการเจ็บป่วย ค่อนข้างละเอียดทีเดียว

Q: การตรวจรักษาเป็นยังไง

A: คุณหมอจะตรวจตามอาการที่ได้กรอกไป อาจซักถามเพิ่มเติมถ้ายังไม่ชัดเจน อาจย้ำคุณหมออีกทีว่า ขอใบรับรองแพทย์ 診断書 (Shindansho)

My case: ป้าหมวยยยแจ้งคุณหมอว่ามีอาการเจ็บคอมาก คุณหมอตรวจชีพจรแล้วให้อ้าปากตรวจลำคอ จากนั้นก็ฟังเสียงหัวใจและปอดทั้งจากด้านหน้าด้านหลังค่ะ

Q: ตรวจโรคเสร็จแล้วทำยังไง ขั้นตอนเหมือนที่ประเทศไทยไหม

A: ตรวจเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งค่าบริการตรวจรักษาค่ะ การชำระเงินขึ้นอยู่กับคลินิกหรือโรงพยาบาล ในตัวเมืองมักรับชำระได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต แต่บางแห่งอาจจะรับแค่เงินสดเท่านั้น

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะมอบใบรับรองแพทย์ หากแพทย์ผู้มีอำนาจอยู่ก็สามารถออกใบให้ได้ทันที แต่ก็มีบางกรณีที่จะต้องมารับภายหลัง

นอกจากนี้จะได้รับใบรับยา/ใบสั่งยา ซึ่งตรงนี้อาจจะต่างจากที่ประเทศไทยที่สถานพยาบาลมักเป็นผู้จ่ายยา แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นกรณีที่คลินิกหรือสถานพยาบาลนั้นไม่มีจุดจ่ายยา ผู้ป่วยต้องนำใบสั่งยาที่ได้ไปซื้อยากับร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้ ๆ คลินิกค่ะ

อย่าลืมสอบถามวิธีการกินยาให้เข้าใจนะคะ หลัก ๆ ที่ควรรู้คือ
– วิธีการกินยา
– กินวันละกี่ครั้ง
– ปริมาณการกินยาต่อครั้ง
– ก่อนหรือหลังอาหาร
– ให้กินยาจนหมดหรือเฉพาะเมื่อมีอาการ
– ข้อควรระวังต่าง ๆ

My case: เคสป้าหมวยยย ทางคลินิกคิดค่าตรวจรักษา 4,620 เยน ในจำนวนนี้มีค่าใบรับรองแพทย์ด้วย 1,000 เยนค่ะ ใบรับรองแพทย์เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เขียนเนื้อหาเป็นภาษาญี่ปุ่น ตอนโทรสอบถามกับบริษัทประกันครั้งแรกได้รับแจ้งว่าไม่ต้องเป็นภาษาอังกฤษก็ได้

ป้าเอาใบสั่งยาเดินไปซื้อยาที่ร้านขายยาข้าง ๆ กัน คุณลุงเภสัชกรอุตส่าห์พรินต์เอกสารกำกับยาเป็นภาษาอังกฤษและอธิบายการกินยาแต่ละตัวให้ฟัง ค่ายา 3,310 เยนค่ะ

ร้านขายยา Arch Pharmacy ข้างคลินิก

ยาที่ได้รับมา ได้แก่

– Tsumura Shoseiryuto Extract Granules (ツムラ小青竜湯エキス顆粒) เป็นยาแกรนูลในซอง กินวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ช่วยลดน้ำมูก ลดอาการอักเสบของจมูกและหลอดลมจากหวัดและภูมิแพ้

– Tranexamic Acid Capsules 250mg (トラネキサム酸カプセル250mg “トーワ”) เป็นยาแคปซูล กินวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร 7 วัน ลดอาการบวมในลำคอ

– Calonal Tablet 200 (カロナール1錠200) เป็นยาเม็ด กินเฉพาะเมื่อมีอาการ ใช้แก้ปวดลดไข้ Acetaminophen 200 มิลลิกรัม

ยา 3 ตัวที่ป้าหมวยยได้รับจากคลินิก

ที่น่าสนใจคือ ยาแกรนูล เป็นยาลักษณะคล้ายเม็ดทรายหยาบ ร่างกายสามารถดูดซึมได้เร็ว

ลักษณะยาแกรนูล คล้ายผงเครื่องดื่มชง

บ้านเราดูเหมือนไม่ค่อยมียาลักษณะนี้ ในเว็บของญี่ปุ่นแนะนำวิธีการกินยาแกรนูลง่าย ๆ ไว้อย่างนี้ค่ะ

1. เตรียมซองยาไว้ เขย่าเบา ๆ ให้ยาตกลงก้นซอง ฉีกซองกว้าง ๆ ไว้ให้พร้อม
2. อมน้ำเปล่าไว้ในปาก
3. อ้าปากเทยาลงบนน้ำที่อมไว้จนหมดแล้วค่อยกลืนลงไปพร้อมกันทั้งน้ำและยา
4. ดื่มน้ำตามหนึ่งแก้ว

ง่ายไหมคะ แต่ป้าลองแล้วรู้สึกไม่ง่ายอย่างที่เขาบอก เลยยอมเทยาลงบนลิ้นเปล่า ๆ แล้วดื่มน้ำตาม ยังดีที่ยาไม่ขมแต่รสชาติอธิบายไม่ถูกเลยค่ะ 555

Q: ได้เอกสารอะไรจากคุณหมอและเภสัชกรบ้าง

A: เคสผู้ป่วยนอก ควรจะได้ใบรับรองแพทย์ที่ขอไว้, ใบเสร็จรับเงินค่าตรวจรักษา, ใบจ่ายยา, ใบเสร็จรับเงินค่ายาค่ะ ส่วนเคสผู้ป่วยในอาจจะได้เอกสารมากกว่านี้แต่ป้าหมวยยยไม่ทราบค่ะ

เก็บเอกสารทุกอย่างที่ได้จากสถานพยาบาลและร้านขายยาไว้ให้ดี รวมทั้งบอร์ดดิ้งพาสขาไปและขากลับ เพราะจะต้องเอามาใช้เคลมตอนกลับมาไทยค่ะ สอบถามข้อมูลกับบริษัทประกันเกี่ยวกับเอกสารอีกครั้งนะคะ

My case: เอกสารที่ได้มาคือ

– ใบรับรองแพทย์ ในนี้ระบุอาการป่วยว่า 感冒 : 咽頭炎 / Cold : Pharyngitis (หวัด : คออักเสบ) และการรักษาโดยใช้ยา มีรายการสั่งยาที่ต้องใช้และโดสพร้อม

– ใบแจ้งหนี้ค่าตรวจรักษาควบใบเสร็จรับเงิน (診療費請求書兼領収書)

– ใบแจกแจงค่าตรวจรักษา (診療明細書)

– สลิปกระดาษรีดร้อนระบุวันเวลาและการชำระเงินค่าตรวจรักษาด้วยบัตรเครดิต

– ใบเสร็จรับเงินและรายการแจกแจงยา (領収証・調剤明細書) จากร้านขายยา มีชื่อคลินิก แพทย์ผู้สั่งยา รายการยาและโดสตรงกับในใบรับรองแพทย์

– สลิปกระดาษรีดร้อนระบุระบุวันเวลาและการชำระเงินค่ายาด้วยบัตรเครดิต

ตัวอย่างใบรับรองแพทย์, ใบแจ้งหนี้ค่าตรวจรักษาควบใบเสร็จรับเงิน และใบแจกแจงค่าตรวจรักษา

Q: กลับมาถึงไทยแล้วดำเนินการยังไง

A: เช็คเว็บไซท์บริษัทประกัน หรือโทรสอบถามรายละเอียดการเรียกร้องสินไหมโดยอ้างอิงเลขที่กรมธรรม์ แล้วเตรียมเอกสารที่ทางบริษัทระบุภายในเวลาที่กำหนด

My case: เมื่อกลับมาป้าหมวยยยส่งเอกสารเอกสารตัวจริง ส่งลงทะเบียนไปที่บริษัทประกันภัยที่ทำไว้ ก่อนส่งสแกนเอกสารไว้อ้างอิงด้วยค่ะ

– แบบฟอร์มการเรียกร้องสินไหม กรอกข้อมูลส่วนตัว เที่ยวบิน ปลายทาง และรายละเอียดการเจ็บป่วยกรณีเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล

– บอร์ดดิ้งพาสทั้งขาไปและขากลับ และ E-Ticket

– ใบรับรองแพทย์

– ใบเสร็จรับเงินทั้งค่าตรวจรักษาและค่ายา

– สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก

– สำเนาบัตรประชาชน

– สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่ต้องการให้เข้าบัญชี กรณีขอรับเงินผ่านบัญชีธนาคาร

เคสป้าส่งเอกสารไปแล้วใช้เวลาประมาณ 3 วันก็มี SMS แจ้งว่าได้รับเอกสารเรียกร้องสินไหมแล้ว ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 15 วันทำการ จากนั้นอีกราว 1 สัปดาห์ มีอีเมล์จากธนาคารแห่งหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทประกันให้โอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 3,226.79 บาท ลองคำนวนแล้ว เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่ายาเต็มจำนวน รวมกับผลประโยชน์ค่าเดินทางเพื่อรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกในต่างประเทศตามกรมธรรม์อีก 1,000 บาทค่ะ

อนึ่ง ป้ากลับมาแล้วถึงอ่านเจอว่า มีกรณีที่บริษัทประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลและผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ แต่ “ไม่รวมค่าใบรับรองแพทย์” เพราะไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเองเพื่อเอามาใช้เคลมประกัน แต่เป็นข้อมูลที่มีคนเขียนไว้เมื่อปี 2018 ไม่รู้ว่าตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือยังนะคะ แต่ที่ป้าเรียกร้องสินไหมไปก็ได้รับเงินเต็มจำนวนใกล้เคียงกับที่จ่ายจริงโดยรวมค่าใบรับรองแพทย์แล้ว

ปกติคลินิกจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไปโรงพยาบาลใหญ่ ไม่ว่าการตรวจรักษาหรือแม้แต่ค่าใบรับรองแพทย์ ซึ่งกลับมาป้าลองเช็คแล้วหลาย ๆ โรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นคิดค่าใบรับรองแพทย์ตั้งแต่สองพันเยนไปจนถึงเป็นหมื่นเยนก็มี

สรุปว่า ป้าหมวยยยไปเที่ยวญี่ปุ่นมาก็หลายครั้ง เพิ่งมีรอบนี้ที่มีเหตุให้เข้าโรงหมอที่นั่นค่ะ ดีที่ไม่ได้เป็นอะไรมากแค่เจ็บคอน้ำมูกไหลเลยเดินไปเองได้ตามลำพัง ได้รับการบริการอย่างดี และค่ารักษาในคลินิกนี้ก็ไม่แพงนัก พอ ๆ กับโรงพยาบาลเอกชนในไทย ยาใช้ได้ผลดีไม่นานก็หาย เที่ยวต่อได้สบาย ๆ ค่ะ และทำประกันเดินทางไว้ก็เคลมคืนได้ไม่ยุ่งยาก

ถ้ากำลังจะไปเที่ยวญี่ปุ่นขอแนะนำให้เข้าเว็บไซท์ JNTO ข้างต้น และโหลดเอกสาร PDF คู่มือเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ญี่ปุ่นขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JNTO) นี้เผื่อไว้ในโทรศัพท์ (https://www.jnto.go.jp/emergency/common/pdf/guide_tai.pdf) ค่ะ ขอให้การเดินทางในญี่ปุ่นของทุกท่านสนุกสนาน ไร้อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยนะคะ

บทความโดย : ป้าหมวยยย www.marumura.com

เรื่องแนะนำ :
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 6 : อนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์ 26 นักบุญมรณสักขีแห่งญี่ปุ่น (ภาคปลาย)
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 6 : อนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์ 26 นักบุญมรณสักขีแห่งญี่ปุ่น (ภาคต้น)
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 5 : สัมผัสเรือเจ็ตฟอยล์ นิทรรศการเลโก้ และพิพิธภัณฑ์นักบุญกอลเบ
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 4 : ขับรถเที่ยวทั่วเกาะฟุคุเอะ (ภาคต้น)
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 3 : ชมเมืองฟุคุเอะและเตรียมรับมือกับพายุ

ข้อมูลอ้างอิง
-https://www.jnto.go.jp/emergency/eng/mi_guide.html
-https://www.kracie.co.jp/ampo/kampofullife/basic_kampo/?p=2042

#ป่วยที่ญี่ปุ่น

Tags :
  • ข้อมูลเที่ยวญี่ปุ่น
  • ประกันเดินทางไปญี่ปุ่น
  • ประสบการณ์ในการหาหมอที่ญี่ปุ่น
  • ป่วยตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น
  • วางแผนเที่ยวญี่ปุ่น
  • หาหมอที่ญี่ปุ่น
  • เจ็บป่วยตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น
  • เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
ป้าหมวยยย

Previous Article
  • เที่ยวโตเกียว Tokyo

เดินชมแสงไฟเคล้าบรรยากาศสุดคลาสสิคที่ย่าน Marunouchi

  • 15/01/2020
  • marumura
View Post
Next Article
  • เที่ยวเฮียวโงะ Hyogo

ชวนแวะ : ร้านซักผ้าแบบบริการตนเองที่ได้รางวัลการันตี

  • 17/01/2020
  • AUMAUM
View Post
Trending Post
  • Bandai Namco เตรียมเปิดศูนย์รวมความบันเทิงยามราตรีในย่านคาบุกิโจ
  • Harry Potter Studio Tour Tokyo เผยรายละเอียดก่อนเปิดให้เข้าชมมิถุนายนนี้
  • ญี่ปุ่นจัดงานประดับไฟชมซากุระยามค่ำคืนที่สวน Shinjuku Gyoen โตเกียว
  • ที่พักใหม่สุดชิค…ธีมซูโม่!!
  • โตเกียวอนุญาตให้จัดงานชมดอกซากุระอีกครั้งในรอบ 3 ปี
Recent Posts
  • 10 เหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนงาน ประจำปี 2022
    10 เหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนงาน ประจำปี 2022
    • 27.03.23
  • ซะกะโมะโตะ เรียวมะ ผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูเมจิ
    ซะกะโมะโตะ เรียวมะ ผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูเมจิ
    • 27.03.23
  • ญี่ปุ่นทำการบินสาธิต “รถบินได้” เพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต
    ญี่ปุ่นทำการบินสาธิต “รถบินได้” เพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต
    • 27.03.23
  • ญี่ปุ่นจัดอันดับ “จังหวัดที่ผู้คนนิยมไปคาราโอเกะมากที่สุด”
    ญี่ปุ่นจัดอันดับ “จังหวัดที่ผู้คนนิยมไปคาราโอเกะมากที่สุด”
    • 26.03.23
  • ญี่ปุ่นวางขายเครื่องดื่มสุดแปลก “รสซุปบะหมี่เย็น”
    ญี่ปุ่นวางขายเครื่องดื่มสุดแปลก “รสซุปบะหมี่เย็น”
    • 25.03.23
Pick up
  • เที่ยวโตเกียว : Shimokitazawa
  • ชาบู ชาบู อร่อยมาก ร้าน Waragamo เมนูเป็ดเซมมงเตงที่ Kichijoji
  • เจอนั่นเจอร์นีย์ที่เจแปน No. 09 Get It : เนื้อย่าง
  • ดอกไม้ประจำ 12 เดือนของญี่ปุ่น
  • เส้นทางเที่ยวชมใบไม้เปลี่ยนสีฮอกไกโดตะวันตก (ฮาโกดาเตะ)

⭕ คูปองส่วนลดร้านดองกิ

⭕ ดูดวงรายปี 2566

⭕ วันหยุดราชการญี่ปุ่น ประจำปี 2023

Social Links
Facebook
Twitter
Instagram
YouTube

Copyright © 2020 Marumura Co.,Ltd. All Rights Reserved

Input your search keywords and press Enter.