สวัสดีค่ะ หายกันไปพักใหญ่ ในตอนที่ 2 ป้าหมวยยยพาขึ้นรถลงเรือไปชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ถึงสองแห่งบนเกาะอันห่างไกลแล้ว เวลาที่เหลืออีกครึ่งวัน ป้าจะพาไปเดินเล่นในเมืองฟุคุเอะชิล ๆ กันค่ะ (แต่จะบอกว่าชิลได้ไม่นาน ก็มีเรื่องชวนเครียดเข้ามา… >_<)
สวัสดีค่ะ หายกันไปพักใหญ่ ในตอนที่ 2 ป้าหมวยยยพาขึ้นรถลงเรือไปชมโบสถ์มรดกโลกถึงสองแห่งบนเกาะอันห่างไกลแล้ว (https://www.marumura.com/?p=26863) เวลาที่เหลืออีกครึ่งวัน ป้าจะพาไปเดินเล่นในเมืองฟุคุเอะชิล ๆ กันค่ะ (แต่จะบอกว่าชิลได้ไม่นาน ก็มีเรื่องชวนเครียดเข้ามา… >_<)
เมื่อจบทัวร์และเดินทางมาถึงท่าเรือฟุคุเอะ ป้าหมวยยยและเพื่อนรับประเป๋าคืนจากสมาคมท่องเที่ยวเมืองโกโต้แล้วไปเช็คอินที่โรงแรมก่อนค่ะ โรงแรมที่พักในคราวนี้คือ บิซิเนส โฮเทล ซากุระ (ビジネスホテル さくら Business Hotel Sakura) อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือนัก ค่อย ๆ ลากกระเป๋ากันไป
ช่วงบ่ายแก่ ๆ แบบนี้ ป้าหมวยยยกับเพื่อนเดินไปชมสิ่งที่น่าสนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในตัวเมือง ได้แก่ โบสถ์ฟุคุเอะ, เรือนเกษียณและสวนอักษรหัวใจในพื้นที่ซากปราสาทอิชิดะ, บ่อน้ำหกเหลี่ยม, ศาลเจ้าหมิง, และเขื่อนกันคลื่นกับประภาคารน้อยโจโตบานะค่ะ
ระหว่างทางพวกเราเดินผ่านย่านการค้าของเมือง มีร้านเสื้อผ้า เครื่องประดับ ร้านหนังสือ ร้านขายยา ธนาคาร ฯลฯ แต่บรรยากาศเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีคนเดินไปมา เห็นร้านที่ปิดตัวถาวรไปก็ไม่น้อย อย่างว่านะคะ ที่นี่เป็นเมืองชนบทที่ประสบปัญหาประชากรย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ไม่ต่างจากที่อื่น ๆ ในญี่ปุ่นหรือต่างประเทศ ป้ามาเดินในช่วงวันธรรมดาและไม่ใช่ช่วงเทศกาลด้วยก็ยิ่งเงียบเหงาเข้าไปใหญ่
ร้านค้าในย่านการค้าเมืองฟุคุเอะ
สถานที่แรกที่พวกเราไปก็คือ โบสถ์ฟุคุเอะค่ะ
โบสถ์ฟุคุเอะตั้งอยู่ใจกลางเมือง
โบสถ์ฟุคุเอะ (福江教会 Fukue Kyōkai) เป็นโบสถ์ศูนย์กลางของเมืองโกโต้ที่สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของคริสตชนคาทอลิกที่ย้ายมาจากเกาะฮิซากะและทางเหนือของเกาะฟุคุเอะ มีลักษณะทันสมัย ทาสีขาวสวยงาม
ภายในโอ่โถง มีแถวเก้าอี้ถึง 4 แถว ตามประวัติว่า โบสถ์สร้างเสร็จและสมโภชในเดือนเมษายนปี 1962 แต่เพียง 5 เดือนหลังจากนั้น หรือในตอนเช้าวันที่ 26 กันยายนปีเดียวกัน เกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่เรียกว่า เหตุการณ์ฟุคุเอะไทกะ (福江大火 Fukue Taika) บ้านเรือนอาคารต่าง ๆ ถูกไฟเผาราบเป็นหน้ากลอง กินพื้นที่กว่าหนึ่งแสนสามหมื่นตารางเมตร แต่โบสถ์ฟุคุเอะแห่งนี้รอดจากไฟไหม้ ตั้งตระหง่านท่ามกลางซากปรักหักพังและกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในการฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่
โบสถ์ฟุคุเอะที่รอดจากไฟไหม้ ภาพจากป้ายแนะนำสถานที่
หน้าโบสถ์ฟุคุเอะ
ภายในโบสถ์ฟุคุเอะ กระจกสีสะท้อนแสงจากภายนอกสวยงาม
ถึงตอนนี้สี่โมงกว่าแล้ว ป้าหมวยยยกับเพื่อนตัดสินใจไปที่ซากปราสาทอิชิดะก่อนจะปิดทำการ ระยะทางไม่ไกลจากโบสถ์ฟุคุเอะนักค่ะ
กำแพงซากปราสาทอิชิดะ
ปราสาทอิชิดะ (石田城 Ishida-jō) หรือมีอีกชื่อว่า ปราสาทฟุคุเอะ (福江城 Fukue-jō) เป็นหนึ่งในปราสาทที่ใหม่ที่สุดในบรรดาปราสาททั่วญี่ปุ่น เพราะเพิ่งสร้างเสร็จในปี 1863 นี่เอง
เดิมที่นี่เป็นค่ายพำนักของคนในตระกูลโกโต้ซึ่งเคยอยู่ที่ปราสาทเองาวะที่อยู่ห่างออกไปอีกไม่ไกลนัก แต่ถูกไฟไหม้ไปในปี 1614 ตระกูลโกโต้พยายามขออนุญาตสร้างปราสาทขึ้นใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธมาตลอดหลายร้อยปี จนได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นในช่วงปลายยุคเอโดะปี 1849 เพื่อเฝ้าระวังเรือต่างชาติที่เริ่มเข้ามาในน่านน้ำ การก่อสร้างใช้เวลาถึง 14 ปีและสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนไม่น้อย ปราสาทประกอบด้วยปราสาทหลัก และป้อม 2 ป้อม เป็นปราสาทแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่หันหน้าออกทะเลถึงสามด้าน แต่ปัจจุบันมีการถมพื้นที่จึงไม่ได้ติดทะเลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามเพียง 5 ปีหลังจากก่อสร้างเสร็จ ปราสาทถูกรื้อลงตามนโยบายการปฏิรูปเมจิ ซากปราสาทอิชิดะนี้ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมปลายโกโต้ (五島高等学校 Gotō Kōtō Gakkō) ดังนั้นจะพบเห็นเด็กนักเรียนใช้สะพานหินนี้เดินเข้าโรงเรียนเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีหอวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้วย แต่ป้ามีเวลาไม่พอที่จะแวะไป จึงได้แต่ชมเรือนเกษียณและสวนญี่ปุ่นค่ะ
ภายในซากปราสาทนี้ มีเรือนเกษียณและสวนญี่ปุ่นตระกูลโกโต้ (五島氏庭園隠殿屋敷 Gotō-shi Teien Indenyashiki) และสระอักษรหัวใจ (心字が池 Shinji-ga-ike) ซึ่งโกโต้ โมริอาคิระ (五島盛成 Gotō Moriakira) เจ้าตระกูลโกโต้รุ่นที่ 30 ได้สั่งให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พำนักยามบั้นปลาย สวนและสระน้ำดำเนินการสร้างโดยพระจากเกียวโตและใช้สวนที่วัดคินคาคุจิในเกียวโตเป็นต้นแบบ ใช้เวลา 2 ปีในการก่อสร้าง
สระอักษรหัวใจ และต้นการบูรอายุ 800 ปี ก้อนหินตรงหน้าทำเป็นรูปเต่าที่โมริอาคิระโปรดปราน
ภายในสวนมีต้นการบูร (คุสุโนกิ) อายุมากกว่า 800 ปี และพืชพันธุ์ไม้ทางใต้ต่าง ๆ หินที่ตกแต่งสวนเป็นหินภูเขาไฟจากภูเขาโอนิดะเคะ (鬼岳Onidake) ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเกาะฟุคุเอะ นอกจากนี้โกโต้ โมริอาคิระยังโปรดปรานเต่ามากจึงให้จัดวางหินประกอบภูมิทัศน์เป็นรูปเต่านับได้ถึง 36 ตัว
บ่อน้ำที่ใช้ในพิธีชงชา ขอบบ่อสกัดจากหินชิ้นเดียวทั้งก้อน
เจดีย์ห้าชั้นจำลองที่ทำขึ้นในปี 1594 เดิมอยู่ที่ปราสาทหลักก่อนจะย้ายมาตั้งที่สวนญี่ปุ่นแห่งนี้
ก้อนหินกำแพงที่กะเกณฑ์หนุ่ม ๆ แรงดีแบกเข้ามาจากฝั่งทะเลทีละก้อน
จากนั้นพวกเราเดินเข้าไปชมเรือนเกษียณ มีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งสวมแว่นตา ลักษณะภูมิฐาน พูดภาษาอังกฤษคล่องในระดับหนึ่งเป็นผู้พาเดินชมห้องต่าง ๆ
แต่ละห้องมีการตกแต่งและสัญลักษณ์มงคลเหนือประตูแตกต่างกัน บางห้องมีสัญลักษณ์รูปเต่าที่สื่อถึงอายุยืนยาว บางห้องมีสัญลักษณ์รูปกระต่ายที่สื่อถึงการมีลูกหลานมากมาย บางห้องมีสัญลักษณ์ดอกบ๊วยน่ารัก
ห้องนี้มีสัญลักษณ์รูปกระต่ายเหนือประตู มีเครื่องเรือนไม้แบบโบราณ
มีอยู่ห้องหนึ่งที่มีประตูลักษณะเหมือนประตูห้องเก็บของธรรมดา แต่เมื่อเลื่อนประตูจะพบบันไดลับซึ่งเปิดไปยังใต้หลังคาได้
ห้องลับและบันไดนำไปสู่ช่องใต้หลังคา
ป้าหมวยยยเพิ่งมาทราบช่วงหลัง ๆ ของการเดินชมว่า เจ้าหน้าที่ที่นำเราชมนั้น แท้จริงแล้วเป็นเจ้าของเรือนและสวนนี้ในปัจจุบันนั่นเอง ทราบชื่อภายหลังคือคุณโกโต้ โนริอาคิ (五島典昭 Gotō Noriaki) ซึ่งเป็นเจ้าตระกูลโกโต้รุ่นที่ 35 ที่คุณโกโต้พูดภาษาอังกฤษคล่องเพราะเคยเป็นอาจารย์มาก่อน น่าเสียดายที่ป้ากับเพื่อนมัวแต่ตื่นเต้นและเพลิดเพลินกับการชมสถานที่จนลืมขอถ่ายภาพท่านไว้
ป้าเดินชมสวนแล้วสงสัยว่าสระน้ำเหมือนรูปอักษรหัวใจ (心) อย่างไร คุณโกโต้บอกว่าเหมือนอักษรนี้ที่เขียนหวัดด้วยพู่กันจีนค่ะ ป้าก็นึกภาพไม่ค่อยออกนะ แต่คนญี่ปุ่นว่างั้นก็ตามนั้นละกันค่ะ
เรือนเกษียณและสวนญี่ปุ่นตระกูลโกโต้
เปิดทำการทุกวันยกเว้นวันอังคารและวันพุธ, วันที่ 9 สิงหาคม, วันเทศกาลชมจันทร์, วันที่ 27 ธันวาคม – 31 มกราคม
เวลาทำการ 9:00 – 17:00 น.
ค่าเข้าชม 800 เยนสำหรับผู้ใหญ่ 400 เยนสำหรับเด็ก
เกือบหกโมงเย็นแล้วแต่ท้องฟ้าหน้าร้อนยังสว่าง ป้าหมวยยยกับเพื่อนเดินไปทางตะวันตกใกล้ปากแม่น้ำเพื่อชมบ่อน้ำหกเหลี่ยมและศาลเจ้าชาวหมิงค่ะ
เมื่อราว 470 กว่าปีก่อน บริเวณนี้เป็นพื้นที่อาศัยและทำการค้าของพ่อค้าชาวจีนสมัยราชวงศ์หมิง เริ่มต้นจากโจรสลัดหวังจื๋อ (王直 Wang Zhi) หรือคนญี่ปุ่นเรียกว่า โอโชคุ (Ōchoku) ได้เดินเรือมายังเกาะฟุคุเอะแห่งนี้ในปี 1540 เพื่อทำการค้า
หวังจื๋อเป็นชาวเมืองฮุยโจว (徽州 Hui Zhou) เดิมเป็นพ่อค้าเกลือ ต่อมาตั้งตนเป็นหัวหน้าโจรสลัดวาโก (倭寇 Wakō) ทำการค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านราชสำนักหมิง หวังจื๋อเป็นคนกลางนำชาวโปรตุเกสขึ้นเกาะทาเนงะชิม่าทางตอนใต้ของคาโงชิม่าในปี 1543 และแนะนำปืนคาบชุด (matchlock หรือ 火縄銃 Hinawa-jū) ให้ญี่ปุ่นได้รู้จักเป็นครั้งแรก
ด้วยอานุภาพรุนแรงของอาวุธตะวันตกนี้ทำให้ปืนคาบชุดเป็นที่ต้องการของผู้ครองแคว้นต่าง ๆ มีการทำตัวปืนเลียนแบบแพร่หลายไปทั่ว แต่สิ่งสำคัญของปืนคาบชุดอย่าง “ดินปืน” นั้นหาไม่ได้ง่าย ๆ หวังจื๋อจึงเข้ามามีบทบาทในการค้าวัตถุดิบการทำดินปืนนอกเหนือไปจากค้าขายสินค้าอื่น ๆ โดยนำเข้าดินประสิวจากจีนและสยามมายังญี่ปุ่น และนำกำมะถันซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญจากญี่ปุ่นไปขายที่สยาม
การค้าของหวังจื๋อเป็นไปด้วยดีนำความมั่งคั่งมาสู่เขาเป็นอันมาก เขาตั้งหมู่บ้านคนจีนบนเกาะฟุคุเอะ และลงหลักปักฐานที่ฮิราโดะ นำเรือโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าที่ฮิราโดะจนเจริญรุ่งเรืองภายใต้การสนับสนุนของผู้ครองเขต แต่สุดท้ายในปี 1560 หวังจื๋อถูกราชสำนักจีนจับตัวได้ และถูกประหารด้วยการตัดศีรษะ
บ่อน้ำหกเหลี่ยมในเมืองฟุคุเอะ
บ่อน้ำหกเหลี่ยม (六角井戸 Rokkaku-ido) นี้สร้างโดยชาวจีน เพื่อตักน้ำจืดมาใช้ในครัวเรือนและบนเรือสินค้า บ่อนี้ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว มีตะแกรงเหล็กกั้นไว้ แต่ยังมีน้ำอยู่ภายใน
ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีบ่อน้ำหกเหลี่ยมอยู่ราว 40 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่เคยมีชุมชนชาวจีน เช่น เกียวโต นารา เกาะอาวาจิ (ใกล้เมืองโกเบ) โอกินาว่า รวมทั้งนางาซากิเองก็มีอยู่บ้าง ป้าหมวยยยเคยเห็นบ่อน้ำหกเหลี่ยมลักษณะใกล้เคียงกันที่เมืองฮิราโดะซึ่งเคยเป็นเมืองท่าที่หวังจื๋อทำการค้าที่นั่นด้วยค่ะ
ซุ้มประตุและศาลเจ้าชาวหมิง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ
ศาลเจ้าชาวหมิง (明人堂 Minjindō) สร้างขึ้น ณ จุดที่เชื่อกันว่าเคยเป็นศาลเจ้าที่หวังจื๋อและพ่อค้าชาวจีนสร้างขึ้นเพื่อสักการะขอให้การเดินทางปลอดภัย สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคและใช้วัสดุจากประเทศจีน
แท่นบูชาและกระถางธูปภายในศาลเจ้า ทางซ้ายคือภาพวาดหวังจื๋อ
ภาพวาดท่าเรือและชุมชนชาวจีน ระบุตำแหน่งบ่อน้ำหกเหลี่ยมและศาลเจ้าชาวหมิงในภาพด้วย
ป้าหมวยยยและเพื่อนเริ่มหิวแล้วเลยเดินไปที่ร้านอาหารชินเซ (いけす割烹心誠 Ikesu Kappō Shinsei) ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของเมืองฟุคุเอะ แต่เพราะไม่ได้จองล่วงหน้า ที่นั่งเต็มจึงไม่สามารถเข้าไปทานได้ เลยต้องหาร้านอื่น ไปได้ร้านอาหารธรรมดาที่อยู่ตรงข้ามโรงแรม สั่งโอจะสึเกะทานง่าย ๆ ค่ะ
ฟ้ายังไม่มืด ป้าเลยชวนเพื่อนเดินไปที่อ่าวเพื่อชมเขื่อนกันคลื่นและประภาคารน้อยโจโตบานะค่ะ
ประภาคารน้อยโจโตบานะ
ตรงกลางอ่าวใกล้ท่าเรือฟุคุเอะนี้ มีเขื่อนกันคลื่นและสิ่งปลูกสร้างที่ยื่นออกไปในทะเล สิ่งปลูกสร้างนี้สร้างด้วยหิน มีช่องคล้ายโคมไฟ สมัยก่อนทำหน้าที่เป็นประภาคารน้อยให้เรือต่าง ๆ ใช้เป็นจุดสังเกตในการเทียบเรือในอ่าว เรียกว่า โจโตบานะ (常灯鼻 Jōtōbana)
เขื่อนกันคลื่นและประภาคารน้อยนี้สร้างโดยโกโต้ โมริอาคิระ มีจุดประสงค์เพื่อกันคลื่นสูงที่ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือขณะที่สร้างปราสาทอิชิดะ แรงงานที่สร้างเขื่อนกันคลื่นนี้คือกลุ่มคนหนุ่มที่สร้างกำแพงปราสาทนั่นเอง
เขื่อนกันคลื่นเดิมมีความยาวมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากจากการถมทะเล มีเพียงประภาคารน้อยที่ยังคงอยู่มายาวนานกว่า 150 ปี
เขื่อนกันคลื่นในปี 1958 ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นคอนกรีตอย่างปัจจุบัน
มีทางบันไดเดินขึ้นไปยังศาลเจ้าด้านบนได้
อ่าวฟุคะเอะยามเย็น พระอาทิตย์ตกแล้ว พระจันทร์เริ่มขึ้นเหนือขอบฟ้า
อย่างที่จั่วหัวไว้ที่ว่า เที่ยวชิลได้ไม่นานก็เริ่มมีเรื่องชวนเครียด… เรื่องที่ว่าก็คือ “พายุ” ค่ะ
เส้นทางพายุจองดาริตั้งแต่วันที่ 27 – 31 กรกฎาคม ภาพจาก Twitter ของ AccuWeather
การท่องเที่ยวญี่ปุ่นในฤดูร้อน (มิถุนายน – สิงหาคม) มีข้อดีตรงที่มืดช้าทำให้มีเวลาท่องเที่ยวได้เยอะ กลางวันท้องฟ้าสดใส เหมาะกับการเดินทางไปเที่ยวเกาะและทะเล รวมทั้งมีงานเทศกาลน่าสนุกมากมาย แม้จะอากาศร้อนไปสักหน่อย อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ “พายุไต้ฝุ่น” ที่มักจะก่อตัวขึ้นในช่วงฤดูนี้ค่ะ
พายุไต้ฝุ่น (台風 Taifū) ในญี่ปุ่น คือพายุความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิค หรือบริเวณใต้เกาะญี่ปุ่น มีความเร็วประมาณ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มักก่อตัวเฉลี่ยปีละ 30 ลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม โดยจะมีมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยจังหวัดบริเวณทางตอนใต้ ได้แก่ โอกินาว่า ภูมิภาคคิวชู จะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด
ผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นต่อการเดินทางท่องเที่ยวมีหลายอย่าง ตั้งแต่ฝนตกหนัก ลมแรง ยานพาหนะล่าช้าหรือยกเลิก ร้านค้าปิดทำการ ฯลฯ ไปจนถึงดินถล่ม ถนนขาด น้ำท่วมจนต้องอพยพผู้คน อย่างไรก็ตาม พายุไต้ฝุ่นป็นสิ่งที่ยังพอคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ต่างจากแผ่นดินไหวที่มักเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน จึงทำให้พอมีเวลาติดตามข่าวและวางแผนสำรองได้ค่ะ
พยากรณ์พายุจองดาริจะเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคคิวชูระหว่างวันที่ 29 – 30 ก.ค. และเกาะโกโต้อยู่ใกล้ศูนย์กลางพายุเสียด้วย
ช่วงที่ป้าหมวยยยเดินทางมาถึงญี่ปุ่น พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 12 (จองดาริ Jongdari) ก่อตัวขึ้นแล้วและกำลังคาดการณ์กันว่าจะไปทางไหน ต่อมาขณะที่อยู่บนเกาะฟุคุเอะ เริ่มชัดเจนแล้วว่า พายุจองดาริจะหักซ้ายขึ้นฝั่งเป็นแนวนอนไปทางตะวันตก และกำลังจะเข้าสู่ภูมิภาคคิวชูในอีกสามวันข้างหน้าคือวันที่ 30 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ป้ามีกำหนดเดินทางไปยังหมู่เกาะโกโต้ทางเหนือ (ชินคามิโกโต้) ด้วยเรือเฟอร์รี่ค่ะ
ข่าวพายุทำเอาป้าและเพื่อนคิดหนักเรื่องเปลี่ยนแผน เพราะพายุจะทำให้เกิดคลื่นลมแรง จนต้องยกเลิกเที่ยวเรือเพื่อความปลอดภัยและจะมีผลต่อแผนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเพื่อนของป้าที่มีกำหนดเดินทางกลับไทยในตอนเช้าวันที่ 31 ก.ค. จะกังวลมากเพราะตามแผนเดิม อย่างน้อยวันที่ 30 ช่วงบ่ายจะต้องกลับไปที่ฝั่งนางาซากิเพื่อมุ่งหน้าสู่ฮาคาตะแล้ว
คืนนั้นป้าเช็คข้อมูลพายุจนสรุปได้ว่า พายุจะเริ่มเข้าพื้นที่นางาซากิแน่นอนในช่วงบ่ายของวันที่ 29 ก.ค. ตัวป้าเองคิดถึงด้านต่าง ๆ ถ้วนถี่แล้ว จึงตัดสินใจลดจำนวนวันพักบนเกาะฟุคุเอะลง 1 วัน และยกเลิกการเดินทางไปยังชินคามิโกโต้ที่เดิมมีกำหนดพัก 2 วันไปเลย แล้วเดินทางเข้าสู่นางาซากิในช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ค.เลยเพื่อเตรียมรับพายุบนฝั่ง
ส่วนเพื่อนของป้าหมวยยยตัดสินใจเดินทางเข้าสู่ฝั่งเช้าวันที่ 28 ก.ค. เพราะมีกำหนดกลับไทยในไม่ช้า ไปเตรียมตัวรับพายุในเมืองบนฝั่งอุ่นใจกว่า
เมื่อตัดสินใจแล้ว ถัดไปคือลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำตามลำดับความสำคัญออกมา หลัก ๆ ได้แก่ ซื้อตั๋วเรือ จองที่พักใหม่ เปลี่ยนแปลงและยกเลิกยานพาหนะที่จองไว้และที่พักเดิมค่ะ แต่ทุกอย่างต้องยกยอดไปทำวันรุ่งขึ้น
ป้าหมวยยยขอแนะนำสิ่งที่จะควรทำเบื้องต้น เมื่อเดินทางในช่วงฤดูพายุและต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางนะคะ
ก่อนเดินทาง
ควรเตรียมใจไว้ก่อนว่ามีโอกาสที่อาจจะต้องเจอพายุไต้ฝุ่นในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นให้วางแผนไว้หลวม ๆ เผื่อมีการปรับเปลี่ยน หรือวางแผนท่องเที่ยวสำรองไว้
หากเป็นไปได้ควรมีข้อมูลการเดินทางสำรอง กรณีที่เส้นทางหลักปิดหรือยกเลิก
ควรเตรียมอุปกรณ์กันฝนไว้บ้าง เช่น ร่ม (ถ้าตกไม่หนักมาก) เสื้อกันฝน ถุงคลุมกระเป๋า ถุงคลุมรองเท้า
ขณะเดินทาง
ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นประจำ ปัจจุบันมีเพจเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากมายที่คอยอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะ เพจข่าวแผ่นดินไหวและภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น โดย นร.เก่าญี่ปุ่น (http://www.facebook.com/japanhelpcenter) จะช่วยได้มาก
เมื่อรู้ว่าพายุกำลังจะเข้าพื้นที่ อย่าเพิ่งแตกตื่นตกใจ ดูแนวโน้มความแรงพายุ แล้วประเมินความเสี่ยงโดยคำนึงถึงคือ “ความปลอดภัย” เป็นอันดับแรก หลัก ๆ ได้แก่
สถานที่พัก ถ้ามั่นคงปลอดภัยก็ใช้ได้ แต่ถ้าที่พักอยู่ใกล้ภูเขาและแม่น้ำมาก ๆ อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากดินถล่มหรือน้ำเอ่อท่วม
อาหาร สามารถตุนอาหารได้บ้างถ้าต้องอยู่แต่ในที่พัก
ความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของแผนการเดินทาง
หากจำเป็นต้องยกเลิกทริปบางส่วนและเปลี่ยนเส้นทาง ควรหาที่พักเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่กรณียานพาหนะเดินทางมีจำกัด เช่น เรือเฟอร์รี่ หรือเครื่องบิน อาจต้องให้ความสำคัญกับการได้ตั๋วเดินทางก่อน แล้วค่อยหาที่พักในภายหลัง
หากจำเป็นสามารถขอความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว หรืออาจขอความช่วยเหลือจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของคนไทย
พึงระลึกว่าในฐานะนักท่องเที่ยว ต้องพยายามนำตัวเองออกห่างจากความเสี่ยงอันตรายให้มากที่สุด เพราะมักประสบปัญหาด้านการสื่อสาร ความไม่คุ้นเคยกับสถานที่ และการปฏิบัติตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคนในท้องถิ่นเสมอ
สุดท้ายนี้ ป้าขอแนะนำเว็บไซท์พยากรณ์และแจ้งเตือนเกี่ยวกับพายุค่ะ
https://www.jma.go.jp/en/typh/ เว็บไซท์แจ้งเตือนพายุไต้ฝุ่นภาคภาษาอังกฤษของ Japan Meteorolocal Agency
https://www.jma.go.jp/jma/index.html เว็บไซท์พยากรณ์อากาศของ Japan Meteorological Agency ข้อมูลละเอียดมาก มีภาษาอังกฤษ แต่เนื่องจากละเอียดมากเลยดูยากไปหน่อย
https://tenki.jp (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) เว็บไซท์พยากรณ์อากาศของ Japan Weather Association มีภาพประกอบชัดเจน
https://weathernews.jp/s/forecast/?area=JAPAN (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) เว็บไซท์พยากรณ์อากาศของบริษัท Weathernews
https://weather.yahoo.co.jp/weather/ (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) เว็บไซท์พยากรณ์อากาศของ Yahoo! Japan
ตอนหน้าป้าหมวยจะขับรถพาไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจบนเกาะฟุคุเอะค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 2 : ทัวร์วันเดียวเที่ยวสองมรดกโลก
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 1 : ล่องเรือไทโกะไปหมู่เกาะโกโต้
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 5
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 4
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 3
ข้อมูลจาก :
https://www.japan-guide.com/e/e2117.html
https://ja.wikipedia.org/wiki/福江大火
https://en.wikipedia.org/wiki/Wokou
https://en.wikipedia.org/wiki/Wang_Zhi_(pirate)
#มรดกโลกนางาซากิ #เมืองฟุคุเอะ