ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin Kamigoto ตอนที่ 12 : เก็บตก (ภาคปลาย) คามิโกโต้กับวาฬ
สวัสดีค่ะ มาต่อกันที่เก็บตกสุดท้ายของซีรีส์ Mission Shin-Kamigoto ของป้าหมวยยยค่ะ วันนี้จะเล่าเรื่องราวความเกี่ยวข้องระหว่างคามิโกโต้กับวาฬ และพาไปชมอาคารผู้โดยสารท่าเรืออาริคาวะกับพื้นที่รอบ ๆ ค่ะ
เนื้อหาบางส่วนอาจมีความละเอียดอ่อน แต่ป้านำมาลงไว้เพื่อนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงของสถานที่และสิ่งที่ได้พบเห็นมาเท่านั้นค่ะ
คามิโกโต้กับวาฬ
บริเวณหมู่เกาะโกโต้ไปถึงเกาะอิคิทสึกิของฮิราโดะนี้เป็นแหล่งล่าวาฬตั้งแต่สมัยต้นเอโดะถึงราวสมัยเมจิ เป็นระยะเวลาราว 400 ปี จึงนับว่าวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนแถบนี้มายาวนาน
ที่เขตอาริคาวะนี้ก็เป็นหนึ่งในท่าเรือล่าวาฬของคามิโกโต้ที่บุกเบิกโดยเองูจิ จินซาเอมอน (江口甚左衛門 Eguchi Jinsaemon) ในปี 1626 ปัจจุบันยังมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับวาฬหลายแห่งในเขตนี้ เช่น จุดชมวิวคุจิระมิยามะ (鯨見山 kujirami-yama แปลว่า ภูเขาดูวาฬ) ที่เคยใช้เป็นจุดสังเกตการเคลื่อนไหวของวาฬ หรือเป็นเครื่องหมายสำหรับเรือเข้าออก, ศาลเจ้าบวงสรวง หรือสถานที่โดดเด่นใกล้ท่าเรืออย่าง ศาลเจ้าไคโด (海童神社 Kaidō Jinja) ที่มีกระดูกขากรรไกรวาฬฟิน (Fin whale) ยาว 5.2 เมตรที่เป็นของวาฬลำตัวยาว 18.2 เมตรที่จับได้ในปี 1973 และบริษัทล่าวาฬ นิตโตโฮเก จำกัดเป็นผู้ถวายแด่ศาลเจ้า
ศาลเจ้าไคโดที่มีกรามวาฬอยู่หลังโทริอิ
นอกจากนี้ในร้านอาหารยังมีเมนูซาชิมิเนื้อวาฬ และมีเนื้อวาฬขายเป็นแพ็คในซุปเปอร์มาร์เก็ตให้นำไปปรุงเองที่บ้านด้วยค่ะ
ซาชิมิเนื้อวาฬ (くじらの刺身 Kujira no sashimi) ถือเป็นเมนูราคาแพง ราคาประมาณ 1,500 เยนขึ้นไป เป็นส่วนที่เรียกว่า “อุเนะสึ (畝須 Unesu)” คือ ส่วนอกไปจนถึงส่วนท้องของวาฬบริเวณใต้ครีบข้าง เป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของวาฬเวลากินแพลงตอน
ซาชิมิเนื้อวาฬส่วนอุเนะสึ
ตรงสีขาวเป็นเนื้อส่วนนอก (อุเนะ 畝 Une) และสีแดงเป็นเนื้อส่วนใน (สึโนะโกะ 須の子 Sunoko) เมื่อมารวมกันจึงเรียกว่า ‘อุเนะสึ’ ส่วนที่ว่านี้นิยมเอามาทำ “เบคอนวาฬ” (Whale bacon) โดยมาแช่แข็ง แล่บางเสิร์ฟพร้อมขิงบด วาซาบิและโชยุ
ส่วนเนื้อวาฬที่ขายเป็นแพ็คในซุปเปอร์ ฯ ที่นี่ เท่าที่ป้าหมวยยยเห็นดูเหมือนเป็นเนื้อวาฬฟิน (長須鯨 Nagasu-kujira หรือ Fin whale) ที่เป็นส่วนอุเนะสึ แต่อาจไม่ใช่เกรดทานสดเป็นซาชิมิ เป็นเกรดใช้ปรุงสุก นำไปเคี่ยวกับน้ำซุปเป็น คุจิระนิชิเมะ (鯨煮しめKujira-nishime) หรือสตูวาฬตุ๋นกับผัก)
ซ้ายเป็นเนื้อวาฬสำหรับทำคุจิระนิชิเมะ ขวาเป็นเนื้อวาฬสำหรับทานสดหรือทำลวกจิ้ม
อีกถาดเป็นแบบทานสด (生食 Seishoku) หรือลวกในน้ำเดือด เป็นเนื้อวาฬลวกจิ้ม ยุคาเคะคุจิระ (湯かけYuukake Kujira) กินกับน้ำส้มพอนสึ หรือใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ
ปัจจุบันกิจกรรมล่าวาฬลดน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนด้วยหลายปัจจัย ทั้งกระแสการต่อต้านและการตั้งคำถามของประชาคมโลก ความนิยมในการบริโภคเนื้อและใช้ประโยชน์จากวาฬในประเทศที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้กิจกรรมอาจสิ้นสุดลงกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้มาเยือนตำบลชินคามิโกโต้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการล่าวาฬ ทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับวาฬสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ที่อาคาร Arikawa Port Terminal ค่ะ
Arikawa Port Terminal
Arikawa Port Terminal ฝั่งท่าเรือ
อาคาร Arikawa Port Terminal (有川港ターミナルArikawa-kō Terminal) นี้นอกจากเป็นจุดพักรอขึ้นเรือไปเมืองซาเซโบะและมีร้านขายของฝากของที่ระลึกแล้ว ภายนอกและภายในอาคารยังจัดแสดงวัตถุสิ่งของหลายอย่างค่ะ
อาคารเทอร์มินัลและบริเวณรอบ ๆ ออกแบบให้สื่อถึงความสัมพันธ์ของชุมชนกับวาฬ ตั้งแต่ตัวอาคารทำเลียนแบบเป็นรูปวาฬ ตรงทางเข้าติดตั้งประตูรูปร่างคล้ายโทริอิกรามวาฬของศาลเจ้าไคโด (海童神社 Kaidō Jinja) ด้านหน้าอาคารมีการติดตั้งรูปปั้นวาฬและโลมา รวมทั้งจัดแสดงอาวุธที่ใช้ในการล่าวาฬเช่น Claw (尾羽はさみ Oba-hasami) ที่ใช้หนีบหางวาฬที่ล่าได้กลับมาเรือแม่ และปืนยิงฉมวกแบบนอร์เวย์ เป็นต้น
อาคารรูปวาฬและกรามวาฬจำลองตรงทางเข้า
ปฏิมากรรมรูปวาฬและโลมา
ปฏิมากรรมรูปวาฬและโลมา
ลวดลายโมเสครูปวาฬตรงลานของเทอร์มินัล
ภาพ 360 องศาบริเวณลานเทอร์มินัลใกล้ท่าเรือ
หนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ในการล่าวาฬ “Claw”
ปืนยิงฉมวกแบบนอร์เวย์
ภายในเทอร์มินัลก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ ไปชมกันค่ะ
ทางเดินไปยังโถงของเทอร์มินัล
ร้านขายของฝากและของที่ระลึก ที่พื้นวาดเป็นรูปเกาะต่าง ๆ ของตำบลชินคามิโกโต้
ในอาคารมีพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ชื่อ “เกฮิงคังมิวเซียม” (鯨賓館ミュージアム Geihinkan Museum) ที่บอกเล่าประวัติการล่าวาฬและประวัติอื่น ๆ ของพื้นที่อาริคาวะ เช่น โบสถ์คาทอลิก และประวัติของนักซูโม่ที่ถือกำเนิดที่นี่ เป็นต้น แต่ป้ามัวแต่เดินสำรวจรอบนอกนานกับดูเวลาผิดขึ้นเรือผิดไปนิดจนลืมชมด้านในพิพิธภัณฑ์เคฮิงคังค่ะ พลาดไปแล้ว T_T ไว้ต้องไปซ่อมใหม่
พิพิธภัณฑ์เกฮิงคัง ค่าเข้าชมแค่ 210 เยนเท่านั้น
หนึ่งในวัตถุจัดแสดงอันโดดเด่นเมื่อเข้าไปภายในโถงอาคาร คือ โครงกระดูกวาฬมิงก์แอนตาร์กติก (Antarctic Minke whale) ของจริงที่ผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดและวาฬจำลองขนาดเท่าจริงที่แขวนไว้บนเพดาน
โครงกระดูกและหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงของวาฬกลางโถง Arikawa Port Terminal
โครงกระดูกเป็นของวาฬมิงก์แอนตาร์คติกเพศเมีย ยาว 9.35 เมตร น้ำหนัก 7.80 ตัน จับได้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1995 ที่บริเวณขั้วโลกใต้ พิกัด 65° 52’S, 177.38’W (ละติจูด 65 องศา 52 ลิปดาใต้ ลองจิจูด 177 องศา 38 ลิปดาตะวันตก) ส่วนอีกตัวเป็น full-size model ที่ทำจำลองวาฬมิงก์แอนตาร์กติกเพศเมีย ยาว 9.6 เมตร
โครงกระดูกวาฬมิงก์แอนตาร์คติกยาว 9.35 เมตร
Full-size model ของวาฬมิงก์แอนตาร์คติกเพศเมียยาว 9.6 เมตร
นอกจากนี้ ภายในอาคารยังจัดแสดงวัตถุสิ่งของบางส่วนที่เกี่ยวกับโบสถ์คาชิระงาชิม่า (頭ヶ島教会 Kashiragashima Kyōkai) อันเป็นโบสถ์เก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO เช่น ภาพถ่ายเก่า กรอบหน้าต่าง สิ่งของเครื่องใช้ภายในโบสถ์ รวมทั้งป้ายแนะนำสถานที่อื่น ๆ ของตำบลชินคามิโกโต้
ชิ้นส่วนหน้าต่างโบสถ์คาชิระงาชิม่าของเก่าที่สับเปลี่ยนเมื่อปี 2011
ภาพถ่ายเก่าของโบสถ์คาชิระงาชิม่าเมื่อปี 1971 และโคม Sanctuary lamp
และยังมีถ้วยตวง (枡 Masu) โบราณขนาดต่าง ๆ สำหรับตวงข้าว ถั่ว เหล้า เกลือ น้ำตาล โดยจะมีการใช้งานแยกกัน บางประเภทถือเป็นเครื่องมือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาชินโต
ถ้วยตวงโบราณที่เรียกว่า มาสุ
ป้ายแสดงทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตำบลชินคามิโกโต้
ป้ายต้อนรับรูปมาสคอตน้องอามิโก้กับมิโคโตะจัง ด้านหลังเป็นตำแหน่งโบสถ์ต่าง ๆ ทั่วเกาะ
ตรงมุมหนึ่งใกล้ ๆ บันไดขึ้นชั้นสองมีรูปปั้นเรียวมะและเรือ Wild Wave จำลองสำหรับเด็กขึ้นไปถ่ายรูปเล่น ถ้าใครไม่ได้ไปถึงรูปปั้นเรียวมะภาวนาทางตะวันออกของเกาะก็สามารถมาชมรูปจำลองได้ที่นี่ สำหรับเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปปั้นเรียวมะภาวนา ป้าหมวยยยเคยเขียนไว้ในตอนที่ 7 ค่ะ
รูปปั้นเรียวมะภาวนาและเรือ Wild Wave จำลองสำหรับเด็ก
ร้านขายของฝากภายในเทอร์มินัล
ของฝากขึ้นชื่อได้แก่ “โกโต้อุด้ง” ที่มีให้เลือกมากมาย แพ็คสีเขียวผสมสาหร่าย สีชมพูผสมบ๊วย
บริเวณใกล้ทางออกมีพาเนลลายหน้าต่างสเตนกลาสของโบสถ์บนเกาะ ซึ่งจากที่ป้าไปตระเวณชมมา หน้าต่างสเตนกลาสของโบสถ์หลายแห่งมีความสวยงามแตกต่างกันไป บางแห่งที่สร้างใหม่มักทำเป็นภาพตามเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ แต่โบสถ์เก่า ๆ จำนวนไม่น้อยมักทำเป็นลวดลายเรขาคณิตหรือลายดอกไม้ เช่น ดอกคาเมลเลีย หรือดอกซากุระ และใช้สีหลัก ๆ เพียงไม่กี่สี แต่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน
พาเนลลายหน้าต่างสเตนกลาสของโบสถ์บนเกาะ
อันซ้ายเป็นลายของโบสถ์ฟุคุมิ และอันขวาเป็นของโบสถ์โอโซะ
นักซูโม่แห่งอาริคาวะ
ในอดีตเคยมีนักซูโม่ที่คามิโกโต้ภาคภูมิใจอยู่ท่านหนึ่ง ถึงกับมีบันทึกประวัติไว้ในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ และตั้งอนุสาวรีย์ไว้ ณ มุมหนึ่งของ Arikawa Port Terminal เรามาทำความรู้จักเขากันค่ะ
อนุสาวรีย์นักซูโม่ในชุดเต็มยศ ที่มีเชือกโยโกสึนะ (横綱 Yokozuna เชือกเกลียวใหญ่) ผูกรอบเอว ทับผ้าเคโชมาวาชิ (化粧廻しKeshōmawashi แผ่นผ้ายาวปักลวดลาย) ในท่วงท่าแบบอุนริวขณะทำพิธีขึ้นสังเวียน (土俵入り Dohyō-iri) ตรงป้ายชื่อเขียนว่า “第五十代横綱佐田の山関の像” (Dai Gojū-dai Yokozuna Sada no Yama Seki no Zō)
นักซูโม่ท่านนี้คือ ซาดะโนะยามะ ชินมัตสึ (佐田の山 晋松Sadanoyama Shinmatsu) นักซูโม่ชั้นโยโกสึนะรุ่นที่ 50
ซาซาดะ ชินมัตสึ (佐々田 晋松 Sasada Shinmatsu) เกิดในครอบครัวช่างต่อเรือที่อาริคาวะ ณ ตำบลชินคามิโกโต้แห่งนี้เมื่อปี 1938 เริ่มเปิดตัวในฐานะนักซูโม่มืออาชีพสังกัดค่ายเดวะโนะอุมิในปี 1956 ในวัย 18 ปี มีจุดเด่นที่สไตล์การต่อสู้ Tsukioshi (突き押し / Push and Thrust Style) หรือการผลักกระแทกที่ดุดัน ค่อย ๆ ไต่เต้าเอาชนะการแข่งขันต่าง ๆ จนสามารถขึ้นชั้นโยโกสึนะ (横綱 Yokozuna) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของวงการซูโม่ได้ในปี 1965 เมื่ออายุ 27 ปี
มีเกร็ดน่าสนใจว่า ซาดะโนยามะเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง James Bonds ตอน You Only Live Twice (1967) ที่นำแสดงโดยนักแสดงผู้ล่วงลับ ฌอน คอนเนอรี่
ในตอนที่บอนด์ปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่น มีฉากที่เข้าไปในห้องเตรียมตัวนักซูโม่ของสนามแข่งขัน นักซูโม่ที่กำลังนั่งให้คนจัดทรงผมให้ทักทายบอนด์ด้วยการจับมือ พูดว่า “This is your ticket” ด้วยสำเนียงญี่ปุ่น และยื่นตั๋วเข้าชมการแข่งขันให้ ก็คือซาดะโนะยามะนั่นเอง
ซาดะโนะยามะในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ James Bond
ตอน You Only Live Twice (1967)
ฉากนี้ยังพอหาดูใน Youtube ได้ค่ะ เป็นคลิปจากภาพยนต์พากษ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ซาดะโนะยามะปรากฏตัวในช่วงนาทีที่ 0.43 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่ในคลิปจะได้เห็นบรรยากาศห้องเตรียมตัวและสนามซูโม่ มีนักซูโม่ที่มีชื่อเสียงสำหรับชาวญี่ปุ่นยุคนั้นหลายท่านปรากฎตัวในคลิปด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม เพียง 3 ปีตั้งแต่เขาขึ้นชั้นโยโกสึนะ หลังจากสามารถชนะเลิศการแข่งขัน 2 รายการมาอย่างต่อเนื่อง ในการแข่งขันวันที่ 6 ของการแข่งขันรายการฤดูใบไม้ผลิเดือนมีนาคม 1968 เขาก็ประกาศเกษียณตัวเองจากการแข่งขันซูโม่อย่างกะทันหัน ช็อคคนในวงการและแฟน ๆ เป็นอย่างมาก โดยกล่าวเพียงว่า เขารู้สึกเหนื่อยล้ากับการฝึกซ้อมและแข่งขัน สิ้นสุดสถิติมาคุอุจิ (ระดับซูโม่ชั้นสูง) ที่ชนะ 435 แพ้ 164 พักแข่ง 61 และชนะเลิศ 6 ครั้ง
หลังจากนั้นเขาผันตัวมาเป็นครูฝึกซูโม่และดูแลค่ายเดวะโนอุมิ ต่อมาขึ้นเป็นประธานสมาคมซูโม่ 3 สมัยเป็นระยะเวลา 6 ปีในช่วงปี 1992-1998 ซาดะโนะยามะเสียชีวิตในปี 2017 ในวัย 79 ปีด้วยโรคปอดอักเสบ ส่วนอนุสาวรีย์นี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2002
สำหรับซีรีส์ “ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto” ของป้าหมวยยยก็จบลงเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ป้าอยากเขียนให้อ่านกันอีก คอยติดตามกันต่อไปนะคะ
เรื่องแนะนำ :
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin Kamigoto ตอนที่ 11 : เก็บตก (2)
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin Kamigoto ตอนที่ 10 : เก็บตก (1) โกโต้อุด้ง
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin Kamigoto ตอนที่ 9 : Unseen ถ้ำคริสตังแห่งโกโต้
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 8 : โบสถ์คาชิระงาชิม่า (ภาคปลาย)
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 7 : โบสถ์คาชิระงาชิม่า (ภาคต้น)
ข้อมูลจาก
– https://tabinaga.jp/history/
– https://gotofan.net/kamigoto/
– https://kujirabiyori.jp/hpgen/
– https://en.wikipedia.org/wiki/
– https://ja.wikipedia.org/wiki/
– และป้ายข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ
#ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin Kamigoto ตอนที่ 12 : เก็บตก (ภาคปลาย) คามิโกโต้กับวาฬ