ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 7 : โบสถ์คาชิระงาชิม่า (ภาคต้น)
สวัสดีค่ะ วันนี้ป้าหมวยยยจะพาไปชมโบสถ์คาทอลิกแห่งสุดท้ายในจำนวนโบสถ์ทั้ง 29 แห่งในตำบลชินคามิโกโต้ ได้แก่ โบสถ์คาชิระงาชิม่า (頭ヶ島天主堂 Kashiragashima Tenshūdō) ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในฐานะ 1 ใน 12 สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคริสตังลับในพื้นที่นางาซากิและอามาคุสะ (Hidden Christian Sites in the Nagasaki Region) เมื่อปี 2018 ค่ะ
เนื่องจากเนื้อหาจะยาวนิดหนึ่งจึงขอแยกออกมาเป็นสองภาค ในภาคแรกนี้จะขอปูพื้น แนะนำประวัติ และสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกโบสถ์ แล้วภาคปลายจะพูดถึงสถานที่รอบ ๆ โบสถ์ค่ะ
ตำแหน่งสถานที่และการเข้าชม
เกาะคาชิระงาชิม่าจาก Google Maps มองเห็นชุมชนและสนามบินเล็ก ๆ
โบสถ์นี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตำบลชินคามิโกโต้ โดยตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของเกาะคาชิระงาชิม่าที่เป็นเกาะเล็ก ๆ เชื่อมต่อกับแผ่นดินด้วยสะพานข้ามสีแดงสดใสที่ผู้เยี่ยมชมจะต้องขับรถผ่านทุกคัน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากจนที่จอดรถไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการจัดระเบียบจำนวนผู้เยี่ยมชมและยานพาหนะ จึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านด้วยตัวเอง แต่จัดบริการ Park & Ride ด้วยรถชัตเติลบัสไว้ให้ค่ะ
ผู้ที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมโบสถ์คาชิระงาชิม่าต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ http://kyoukaigun.jp หรือทางโทรศัพท์ เพื่อจองที่นั่งบนรถชัตเติลบัส โดยจะต้องไปแสดงตัวขึ้นรถที่สนามบินคามิโกโต้ (上五島空港 Kamigotō Kūkō) ที่อยู่สุดทางตะวันออกของเกาะ เลยถนนเข้าหมู่บ้านไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
สนามบินเล็ก ๆ แห่งนี้ เปิดให้บริการในปี 1981 โดยมีเที่ยวบินจากสนามบินฟุกุโอกะและสนามบินนางาซากิมาลง แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการขึ้นลงและได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศบ่อยครั้ง ประกอบกับจำนวนประชากรลดลงและมีเส้นทางเดินเรือ Highspeed Ferry และเรือ Jetfoil เปิดให้บริการ จึงยกเลิกเส้นทางบินและปิดสนามบินไปในปี 2006
อาคารผู้โดยสารสนามบินคามิโกโต้ที่เปลี่ยนเป็น Tourist Information Center
ปัจจุบันสนามบินถูกปรับใช้เป็นจุดจอดรถของนักท่องเที่ยว และปรับเปลี่ยนอาคารผู้โดยสารเป็น Tourist Information Center ภายในมีจุดเช็คชื่อตามที่ลงทะเบียนไว้ มุมแนะนำโบสถ์คาชิระงาชิม่าและโบสถ์ต่าง ๆ บนเกาะ และมีห้องน้ำให้บริการด้วยค่ะ
เมื่อไปถึงสนามบิน จอดรถแล้วไปแจ้งชื่อและขึ้นรถบัส ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินไปยังหน้าหมู่บ้านประมาณ 7 นาที ตรงแยกทางเข้าหมู่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่กำกับการเดินรถประจำอยู่ อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะรถที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ที่จอดรถบัสจะอยู่ริมทะเล เดินไปตามทางอีกไม่ถึง 5 นาทีก็จะถึงบริเวณโบสถ์ค่ะ
ทางเดินเข้าไปยังโบสถ์ ตรงพื้นสีฟ้าเป็นบริเวณที่จอดรถไฟฟ้าเพื่อชาร์ตแบตเตอรี่
ป้ายสัญลักษณ์มรดกโลก UNESCO
ทางเดินไปยังโบสถ์คาชิระงาชิม่า
เรามาดูประวัติเกี่ยวกับโบสถ์คาชิระงาชิม่ากันนะคะ
ประวัติโบสถ์คาชิระงาชิม่า
หน้าโบสถ์คาชิระงาชิม่า
ตามประวัติว่า แต่เดิมเกาะคาชิระงาชิม่าเป็นเกาะร้าง แต่ในช่วงราวกลางศตวรรษที่ 19 เคยมีการตั้งสถานพยาบาลผู้ป่วยที่บริเวณหาดชิราฮามะ (白浜 Shirahama) ต่อมาเริ่มมีการบุกเบิกสร้างพื้นที่ทำกินบนเกาะคาชิระงาชิม่าในปี 1858
ชาวหมู่บ้านไทโนอุระ (鯛ノ浦集落 Tainoura Shūraku) ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับคำชักชวนให้ไปตั้งบ้านเรือนที่นั่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เป็นคริสตังลับย้ายมาจากโซโตเมะบนแผ่นดินใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับชาวพุทธในหมู่บ้านจึงตัดสินใจย้ายไปยังที่นั่นเพราะไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่ และไม่มีการบังคับเข้าพิธีเอะบุมิ (絵踏 Ebumi
พิธีที่ให้ประชาชนเหยียบบนแผ่นโลหะรูปพระเยซูหรือพระแม่มารีย์ที่เรียกว่า แผ่นฟุมิเอะ (踏み絵 Fumie) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์)
พิธีเอะบุมิที่ให้ประชาชนเหยียบบนแผ่นจำลองรูปพระคริสต์ที่เรียกว่าแผ่นฟุมิเอะ
หลังเหตุการณ์คริสตังลับแสดงตัวต่อคุณพ่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่นางาซากิในปี 1865 คริสตังลับในพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหว บ้างเดินทางไปเรียนคำสอนและรับศีลล้างบาปแล้วมาล้างบาปให้คนในหมู่บ้าน หรือเชิญคุณพ่อบาทหลวงมาทำพิธีมิสซา ทั้งหมดนี้ยังต้องเป็นความลับต่อราชการเพราะคำสั่งห้ามชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาคริสต์ยังมีผลอยู่
โดมิงโก โมริ มัตสึจิโร่ (ドミンゴ森松次郎 Dominic Mori Matsujirō) ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้นำคริสตังลับในคามิโกโต้ ที่ย้ายไปยังเกาะคาชิระงาชิม่า ได้สร้างบ้านหลังหนึ่งไม่ไกลจากหาดชิราฮามะ เพื่อให้คุณพ่อบาทหลวงฝรั่งเศส ฌูล อัลฟอนส์ คูซัน (Jules Alphonse Cousin) ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีมิสซาอย่างลับ ๆ ในปี 1867
อย่างไรก็ตาม การปิดบังตัวตนรักษาความลับให้ตลอดรอดฝั่งย่อมเป็นการยาก วันหนึ่งแขกชาวพุธที่มาเยือนหมู่บ้านบังเอิญเก็บสายประคำที่ดูแปลกตาไว้ได้เส้นหนึ่ง เมื่อความไปถึงราชการจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
ตัวอย่างสายประคำโบราณ
เมื่อเหล่าคริสตังรู้ว่าภัยมาถึงตัวจึงรีบช่วยเหลือให้ท่านโมริที่เป็นผู้นำให้หลบหนีไปอยู่ที่ตำบลอื่น คริสตังคนอื่น ๆ ถูกจับและนำตัวไปทรมาน แต่พอดีเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เขตย่อยโทมิเอะ (富江支藩 Tomie-shihan) ไม่ยอมถูกควบรวมกลับเข้าเขตโกโต้ (五島藩 Gotō-han) คริสตังทั้งหลายจึงถูกปล่อยตัวกลับมา แต่ขณะที่ถูกจับตามองก็อาศัยช่วงพ้นสายตาเจ้าหน้าที่รีบหลบหนีไปยังพื้นที่อื่นจนไม่มีใครเหลืออยู่บนเกาะเป็นระยะเวลาหนึ่ง
เวลาผ่านไปจนถึงปี 1873 ที่คำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ถูกปลดลง ในปี 1887 ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างโบสถ์ไม้ ตรงบริเวณใกล้บ้านของผู้นำคริสตังลับและใช้มาจนถึงปี 1914
โบสถ์คาชิระงาชิม่า
ด้านหน้าโบสถ์คาชิระงาชิม่า
โบสถ์คาชิระงาชิม่าหลังนี้เป็นโบสถ์หลังใหม่ที่เริ่มการก่อสร้างขึ้นในปี 1910 ออกแบบและก่อสร้างโดยคุณเท็ตสึคาวะ โยสึเกะ (鉄川与助 Tetsukawa Yosuke) สถาปนิกที่มีผลงานสร้างโบสถ์คาทอลิกหลายสิบแห่ง
ตัวโบสถ์มีขนาดเล็กเพียง 131 ตารางเมตร แต่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งภายนอกและภายใน เป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความศรัทธามั่นคงของคริสตชน และความสามารถของสถาปนิกภายใต้งบประมาณการก่อสร้างที่แสนจำกัด
สถาปัตยกรรมภายนอกของโบสถ์เป็นแบบโรมาเนสก์ ก่อสร้างด้วยหินทรายทั้งหลังแตกต่างจากโบสถ์อื่น ๆ ในสมัยนั้นที่นิยมสร้างด้วยไม้หรืออิฐ
เหตุผลที่โบสถ์คาชิระงาชิม่าใช้หินทรายในการก่อสร้างนั้น เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อโอซากิ ยาเอะซึ่งเกิดที่อามาคุสะ (จังหวัดคุมาโมโต้) ที่มีการใช้หินในพื้นที่ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทั่วไป คุณพ่อเห็นว่าบริเวณใกล้เคียงเกาะคาชิระงาชิม่า มีเหมืองหินทรายที่มีคุณภาพดีพอที่จะนำมาใช้สร้างอาคาร และยังช่วยประหยัดงบประมาณก่อสร้างโบสถ์ที่มีอยู่น้อยนิด
แหล่งหินทรายบริเวณซาคิอุระ ถ่ายจากบริเวณอนุสาวรีย์เรียวมะภาวนา
การใช้หินทรายช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านวัสดุก่อสร้างไปได้มาก แม้ก้อนหินทรายจะมีน้ำหนักมากและยุ่งยากในการก่อสร้างอยู่บ้างแต่มีราคาถูกกว่าอิฐ และยังลดปริมาณปูนซีเมนต์กับจำนวนแรงงานที่ใช้การก่ออิฐได้ด้วย การสกัดและก่อกำแพงหินใช้ช่างหินในท้องถิ่นและนางาซากิ นอกจากนี้คริสตชนในชุมชนยังมีส่วนร่วมในการขนย้ายและก่อกำแพงหินบางส่วนด้วย
ภาพ 360 องศาบริเวณหน้าโบสถ์คาชิระงาชิม่า
ป้าหมวยยยลองแปลคำอธิบายภาพเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในของโบสถ์คาชิระงาชิม่าที่ Kashiragashima Information Center มาให้อ่าน โดยทำเป็นภาษาอังกฤษแล้วเขียนอธิบายเป็นภาษาไทย อาจจะมีข้อผิดพลาดเนื่องจากไม่มีความรู้เฉพาะด้าน ต้องขออภัยล่วงหน้ามาด้วยค่ะ
สถาปัตยกรรมภายนอก
โบสถ์คาชิระงาชิม่าใช้สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ที่เป็นทรงเหลี่ยม การออกแบบดั้งเดิมไม่มีหอคอยด้านหน้า แต่มาต่อเติมเพิ่มช่วงใกล้เสร็จงาน
สถาปัตยกรรมภายนอกโบสถ์คาชิระงาชิม่า แปลอธิบายคำโดยป้าหมวยยย
คำอธิบาย
– Cross = ไม้กางเขนประดับบนยอดโดม
– Domed roof = ยอดโดมทรงแปดเหลี่ยมที่คุณเท็ตสึคาวะมักใช้ในงานออกแบบโบสถ์อยู่หลายแห่ง
– Rose window = หน้าต่างกุหลาบ หรือกระจกสีด้านหน้าโบสถ์
– Dentil = ลวดลายตกแต่งภายนอกอาคารเป็นซี่ ๆ
– Keystone = หินบนยอดสุดของโค้งประตู ทำหน้าที่คล้ายลิ่มยึดก้อนหิน
– Arch = ประตูโค้งทางเข้าโบสถ์
– Stone steps = บันไดหินตรงทางเข้าโบสถ์ มีสามขั้น
– Lombard band = แถบตกแต่งหยักโค้งในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์หรือโกธิค
– Rusticated stone wall = ผิวหน้ากำแพงที่ไม่ได้สกัดให้เรียบแต่ปล่อยให้แสดงความหยาบของพื้นผิว(Rustication)
– Underfloor vent = ช่องระบายอากาศและความชื้นใต้อาคาร
– Buttress = ส่วนที่ยื่นออกมาจากกำแพงผนังด้านนอก ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับอาคาร
– Berm / Scarcement = ภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า 犬走り (Inubashiri) เป็นพื้นที่ทำยกพื้นหรือก่อขอบเลยจากพื้นผนังด้านนอกของบ้านหรืออาคารประมาณ 40 – 60 ซม.
ช่องระบายอากาศของโบสถ์และก้อนหินที่คงลักษณะหยาบไว้
ภาพด้านบนแสดงให้เห็นช่องระบายอากาศขนาดใหญ่เพื่อระบายความชื้นที่มีอยู่มากเนื่องจากตั้งอยู่ริมทะเล ส่วนรูใต้บานหน้าต่างอาจมีไว้เพื่อระบายความชื้นควบแน่นจากภายใน ก้อนหินทรายในภาพผ่านการสกัดขอบทั้ง 4 ด้าน แต่ไม่ได้ผ่านการสกัดผิวหน้าให้เรียบ ร่องรอยตื้นลึกตามธรรมธรรมชาติแสดงเสน่ห์ของพื้นผิวและสร้างแสงเงาเวลามองจากด้านหน้า
รอยตัวอักษรสลักบนก้อนหินทรายริมหน้าต่าง
ความน่าสนใจอีกประการคือ ถ้าสังเกตตามก้อนหินกำแพงโบสถ์ดี ๆ จะพบเห็นร่องรอยตัวเลขสลักอยู่หลายจุด เช่น แผ่นหินนี้มีตัวอักษร 四九五 (495) สลักแนวตะแคง ว่ากันว่าตัวเลขนี้คือ “ความยาว” ของก้อนหินนี้ตามหน่วยโบราณ ได้แก่
– 尺 (1 ชะคุ Shaku = 30.3 ซม.)
– 寸(1 ซุน Sun = 3.03 ซม.)
– 分 (1 บุ Bu = 0.303 ซม.)
ดังนั้นตัวเลข 495 คือ 4 ชะคุ 9 ซุน 5 บุ คำนวณได้ 121.2 + 27.27 + 1.515 = 149.98 ซม. หรือแผ่นหินนี้มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร
ด้านหลังโบสถ์คารชิระงาชิม่ามีการเซาะร่องเป็นรูปหน้าต่าง
หากเดินไปด้านหลังโบสถ์จะมองเห็นร่องแกะสลักเป็นรูปหน้าต่างแต่ขนาดเล็กกว่าบานอื่น ๆ ส่วนบานหน้าต่างรอบ ๆ โบสถ์ใช้กรอบกระจกสเตนกลาสที่มีขนาดใหญ่ประกอบติดตั้งได้ง่าย บานครึ่งล่างสามารถเปิดกางออกได้
ภาพ 360 องศาด้านหน้าเฉียงโบสถ์คาชิระงาชิม่า
สถาปัตยกรรมภายใน
ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านในการสร้างโบสถ์คาชิระงาชิม่า คุณเท็ตสึคาวะจึงออกแบบเพดานและหน้าต่างภายในโบสถ์ โดยคำนึงถึงการรับน้ำหนักและการชิ้นส่วนซับซ้อนน้อยชิ้นที่ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านวัสดุและแรงงาน
จุดเด่นภายในโบสถ์ คือ เพดานที่ได้รับการออกแบบเป็น Coved ceiling ผสานกับคาน Hammer beam รับน้ำหนักเพดานโดยไม่ต้องมีเสาทำให้ภายในโบสถ์ดูโปร่ง ไม่อึดอัด
สถาปัตยกรรมและวัตถุภายในโบสถ์คาชิระงาชิม่า แปลอธิบายคำโดยป้าหมวยยย
คำอธิบาย
– Coved ceiling = ภาษาญี่ปุ่นใช้ว่าโอริอาเงะเท็นโจ (折り上げ天井 Oriage Tenjō) หมายถึงเพดานแบบมีส่วนโค้งรับกับผนัง บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่า โอริอาเงะเท็นโจ กับ ฟุนาโซโกะเท็นโจ (船底天井 Funazoko Tenjō) หรือหลังคาแบบท้องเรือกลับหัวคืออย่างเดียวกัน
– Double braces = โครงโค้งสองชั้นรองรับด้วยคันทวย(corbel)ตรงผนัง
– Hammer beam = คานยื่นรับน้ำหนัก
– Tabernacle = ตู้ศีล สำหรับบรรจุแผ่นศีลมหาสนิทหรือขนมปังไร้เชื้อที่ผ่านพิธีการเสกแล้ว สำหรับคริสตชนคาทอลิกถือว่าศีลนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพระกายพระคริสต์แล้วจึงต้องเก็บรักษาไว้อย่างดีในที่ ๆ กำหนดไว้
– Blessed sacrament lamp = ไฟตู้ศีล แสดงว่ามีศีลบรรจุอยู่ในตู้ศีล เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากพันธสัญญาเดิม
– Virgin Mary statue = พระรูปพระแม่มารีย์ จะตั้งประดิษฐานไว้บริเวณมุมขวาเมื่อหันหน้าเข้าหาหน้าพระแท่น
– Saint Joseph statue = พระรูปนักบุญยอแซฟ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของโบสถ์คาชิระงาชิม่า
– Old altar = พระแท่นบูชาเดิมที่อยู่ชิดติดผนัง สมัยก่อนบาทหลวงจะทำพิธีมิสซาโดนหันหลังให้คริสตชนผู้ร่วมพิธี จะเห็นพระแท่นบูชาแบบนี้ในโบสถ์คาทอลิกเก่า ๆ
– New altar = พระแท่นบูชาเป็นโต๊ะมีผ้าคลุมสำหรับบาทหลวงทำพิธีมิสซาโดยหันหน้าเข้าหาคริสตชนผู้ร่วมพิธี โดยใช้กันหลังจากมีการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ในปี 1962 เป็นต้นมา
– Stations of the Cross = มรรคาศักดิ์สิทธิ์ แสดง 14 ภาพเหตุการณ์พระทรมานของพระเยซู ตั้งแต่ทรงถูกตัดสินประหารชีวิต ไปจนถึงพระศพถูกฝังในคูหา คริสตชนจะสวดภาวนาและรำพึงในช่วงเทศกาลมหาพรต (Lent) และสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter)
– Confessional = ตู้รับศีลอภัยบาป สำหรับคริสตชนเข้าไปสารภาพบาปต่อบาทหลวง
– No pillar = สังเกตว่าภายในโบสถ์คาชิระงาชิม่าไม่มีเสาภายในแม้แต่ต้นเดียว
ภายในโบสถ์มีเก้าอี้สองแถว บนเพดาน คาน และผนังตกแต่งด้วยชิ้นไม้แกะสลักลวดลายดอกไม้ต่าง ๆ ทาสีขาว ชมพู ตัดกับชิ้นส่วนกรอบสีฟ้าและเพดานทาสีฟ้าอมเขียว โบสถ์คาชิระงาชิม่าจึงได้สมญาว่า “วิหารดอกไม้” (花の御堂Hana no midō)
การออกแบบของคุณเท็ตสึคาวะที่คำนึงถึงความแข็งแรงคงทน ความสวยงาม แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งด้านวัสดุและแรงงาน ทำให้โบสถ์ออกมางดงามทั้งภายในภายนอก แล้วยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างโบสถ์ได้เหลือเพียง 1 ใน 10 เทียบกับการก่อสร้างทั่วไป
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามลดค่าใช้จ่ายแล้ว การก่อสร้างยังหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณถึง 2 ครั้ง จึงต้องใช้เวลาถึงสิบปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ โดยคริสตชนในชุมชนช่วยกันสะสมเงินจากการจับหมึกยามกลางคืน และช่วยงานสร้างโบสถ์ในตอนกลางวัน จนโบสถ์สร้างสำเร็จและทำพิธีเปิดเสกโบสถ์ขึ้นในปี 1919
ภาพหน้าโบสถ์คาชิระงาชิม่าเมื่อปี 1962
โบสถ์คาชิระงาชิม่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี 2001 และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในฐานะ 1 ใน 12 สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคริสตังลับในพื้นที่นางาซากิและอามาคุสะ เมื่อปี 2018
ตอนหน้าเราจะมาชมสิ่งที่น่าสนใจที่ตั้งรอบ ๆ โบสถ์มรดกโลกแห่งนี้กันต่อนะคะ
เรื่องแนะนำ :
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 6
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 1
-ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 4
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 3
– ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 2
#ขับรถเหนือใต้ออกตก Mission Shin-Kamigoto ตอนที่ 7 : โบสถ์คาชิระงาชิม่า (ภาคต้น)