ปีนฟูจิ..เพื่อนๆ ที่ติดตาม marumura อยู่บ้าง ก็คงจะพอทราบว่ามีทีมงานติ๊งต๊องคนหนึ่งของทางเวบใฝ่ฝันว่าจะเที่ยวญี่ปุ่น แบบครบๆ ก็ต้องไปยืนอยู่บนยอดเขาฟูจิสักครั้งในชีวิต ซึ่งหลังจากเริ่มมีความคิดนั้นมากว่าสองปี ในที่สุดฝันบ๊องๆ นั้นก็เป็นจริง..
สนับสนุนโดย :
เพื่อนๆ ที่ติดตาม marumura อยู่บ้าง ก็คงจะพอทราบว่ามีทีมงานติ๊งต๊องคนหนึ่งของทางเวบใฝ่ฝันว่าจะเที่ยวญี่ปุ่นแบบครบๆ ก็ต้องไปยืนอยู่บนยอดเขาฟูจิสักครั้งในชีวิต ซึ่งหลังจากเริ่มมีความคิดนั้นมากว่าสองปี ในที่สุดฝันบ๊องๆ นั้นก็เป็นจริง.. จึงอยากนำประสบการณ์ตรง ในการเตรียมตัวเดินทางสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาแบ่งปันกัน
เอาหล่ะ มาดูสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเตรียมตัวก่อนการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิกัน อาจจะดูเหมือนว่ามีอยู่ไม่กี่ประการ แต่รายละเอียดแต่ละเรื่องนั้นไม่น้อยเลย
ประการที่ 1 เรียนรู้เส้นทางและสภาพทางภูมิศาสตร์
รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง.. เป็นคำพูดติดปากของคนที่เรียนรู้มาจากท่านซุนวู่นักปราชญ์ชาวจีน แล้วมันจะเป็นประโยชน์มากหากเราจะนำมาใช้ในการเตรียมตัวปีนสู่ยอดเขาฟูจิ
เนื่องจากภูเขาไฟฟูจิมีขนาดใหญ่มาก จึงครอบคลุมพื้นที่ทั้งของจังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) และจังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) นอกจากนี้ยังมีเส้นทางในการเดินทางขึ้นสู่ฟูจิหลายเส้นทางซึ่งมีความลำบากยากเย็นมากน้อยแตกต่างกันไป
บางเส้นทางอาจจะเต็มไปด้วยหินก้อนใหญ่ๆ บางเส้นทางอาจจะมีแต่กรวด บางเส้นทางอาจจะพอมีต้นไม้บังแดดบ้างก็ได้ นักปีนเขาจึงควรศึกษาให้ดีก่อนว่าอยากจะใช้เส้นทางไหนหรือสภาพร่างกายเหมาะกับเส้นทางไหนกันแน่ หากเลือกดีก็ดีไป หากเลือกพลาดแล้วอยากจะเปลี่ยนใจไปใช้เส้นทางอื่นระหว่างที่อยู่บนภูเขาไฟฟูจิ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นแม้ว่าเส้นทางโยชิดะ-คาวากูชิ จะเป็นเส้นทางยอดนิยมและเหมาะกับมือใหม่หัดปีนเขามาก แต่นักปีนเขาจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้เส้นทางอื่น
และจุดเริ่มต้นในการปีนฟูจิก็สำคัญเช่นกัน นักปีนเขาสามารถเลือกว่าจะปีนตั้งแต่สถานีที่ 1 หรือจะไปเริ่มต้นปีนที่สถานีที่ 5 เพื่อย่นระยะทางก็ได้
อีกประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องของเส้นทางที่ควรบันทึกไว้ในสมองเลยก็คือความเป็นไปได้ (สูง) ที่จะเกิดการหลงทาง เนื่องจากหลายเส้นทางนั้น มีทางขึ้นกับทางลงคนละเส้นทาง สองเส้นทางอาจจะใช้เส้นทางร่วมกันบ้างในบางช่วงก็มี
ถ้ามัวแต่ก้มหน้าก้มตาเดินตามคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาลง มองตามป้าย (ซึ่งจะแบ่งแทบสีชัดเจน เช่น เส้นทางโยชิดะ จะเห็นป้ายแทบสีเหลืองติดอยู่) ถ้าเห็นมีป้ายแทบสีอื่นอยู่ด้วย ก็ต้องระวังไว้ให้ดี ถ้ารู้ตัวเร็วว่าลงผิดทาง กลับตัวได้ทันก็เหนื่อยน้อยหน่อย แต่ถ้ารู้ตัวช้าละก็ ความเหนื่อยจะเพิ่มทวีคูณ เพราะวิธีการแก้ไขก็คือเดินย้อนขึ้นไปเพื่อกลับไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องนั่นเอง
คงไม่มีใครอยากจะลงมา แล้วไปโผล่ผิดจังหวัดใช่มั้ยล่ะ ก็ภูเขาไฟฟูจินั้นครอบคลุมพื้นที่ถึงสองจังหวัด ถ้าลงมาแล้วไปโผล่ผิดจุดหมายปลายทาง รับรองว่าฮาไม่ออกแน่ๆ
สภาพอากาศของภูเขาไฟฟูจิ ก็ควรศึกษาไว้เช่นกัน เนื่องจากฟูจินั้นมีความสูงถึง 3,776 เมตร สำนวนยิ่งสูงยิ่งหนาวจึงไม่เพียงแต่จริง แต่ยิ่งสูงยิ่งอากาศเบาบางก็เป็นประเด็นที่ควรต้องใส่ใจ
เมื่อรู้ว่าหนาวก็ต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาว อาจจะเกะกะกระเป๋าอยู่บ้าง เพราะอุณภูมิช่วงหน้าร้อนบนพื้นราบอาจจะร้อนจัดถึง 36 องศาเซลเซียส ในขณะที่ยอดเขาฟูจิอาจจะเหลือเพียง 2 – 3 องศาเท่านั้น (ในวันที่ฝนไม่ตกด้วยนะ)
ที่สำคัญภูเขาไฟฟูจินั้นไม่เพียงแต่ขี้อายเพราะชอบหลบอยู่ในก้อนเมฆ คุณฟูจินั้นอารมณ์แปรปรวนได้ง่ายมากๆ ด้วย คือเดี๋ยวแดด เดี๋ยวฝน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว หลายคนอาจเจอครบทุกฤดูกาลในการปีนฟูจิครั้งเดียว จึงเป็นเหตุผลให้การจัดกระเป๋าเตรียมปีนฟูจิเป็นเรื่องน่าปวดหัวแบบสุดๆ
สำหรับเรื่องของอากาศที่บางเบานั้นมีผลกับการหายใจเพื่อรับออกซิเจน นอกจากร่างกายเราจะต้องแข็งแรงแล้ว จึงควรศึกษาเกี่ยวกับอาการป่วยเพราะความสูงและวิธีการแก้ไขเอาไว้ด้วย บางคนถึงขนาดเตรียมออกซิเจนกระเป๋าติดตัวไปเลยก็มี (ซึ่งจะเล่าเพิ่มเติมในภายหลัง)
แล้วถ้าหากนักปีนเขาเลือกที่จะเดินทางเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขาฟูจิ การเดินทางก็จะยิ่งลำบากขึ้นอีกนิด เพราะจะต้องเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน
อุปกรณ์สำคัญที่ควรมีติดตัวไปด้วยก็คือไฟฉายและถ่ายไฟฉายนั่นเอง และทางที่ดีควรเป็นไฟฉายแบบติดหัว เพราะมือเราจะได้ว่างพอที่จะพยุงตัวเวลาที่จะล้ม เพื่อความปลอดภัยของตัวเรานั่นเอง
ประการที่ 2 เรียนรู้ความนิยม (ฤดูท่องเที่ยว)
เรื่องหนักๆ ผ่านไปเกือบหมดแล้ว มาเตรียมตัวในเรื่องเบาๆ บ้าง…
เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าควรจะปีนฟูจิสักครั้งในชีวิต ไม่งั้นก็คงจะเสียชาติเกิด ฤดูร้อนแต่ละปีซึ่งเป็นช่วงที่เปิดให้ปีนฟูจิได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม จึงมีนักปีนเขาทั้งมือเก่าและมือใหม่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งเด็กน้อยและผู้เฒ่า รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากมาปีนฟูจิ
เกือบทุกเส้นทางจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนเดินเรียงแถวขึ้นสู่ยอดฟูจิตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ยอดเขามียอดเดียวเท่านั้น นอกจากพื้นดินที่เหยียบได้บนภูเขาจะน้อยลงแล้ว ที่จะกินที่จะนอนก็จะหาได้ยากลำบากเช่นกัน
หากระหว่างการปีนฟูจิเราจำเป็นต้องพัก การจองที่พัก (Mountain hut) ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละเส้นทางก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นกัน บางครั้งแม้เราจะจองที่พักมาล่วงหน้า เราอาจจะนอนได้เพียง 2 – 3 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะถูกปลุกให้เดินทางต่อ เพราะนักปีนเขาชุดถัดไปกำลังจะขึ้นมาถึง และพวกเขาก็ต้องพักผ่อนเช่นเดียวกัน
เมื่อทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดที่พักก็ต้องแบ่งปัน รวมถึงห้องน้ำก็อาจจะไม่สะดวกสบาย (และไม่ได้บริการฟรีอีกต่างหาก) ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกให้กลัวหรือขยาดการขึ้นฟูจิ แต่จะบอกว่าการเตรียมตัวนั้นสำคัญ
นอกจากควรจะเลือกเส้นทางให้เหมาะแล้ว การเลือกว่าจะเดินทางกลางวันหรือกลางคืน รวมถึงเลือกว่าจะจองที่พักหรือเปล่านั้นก็ต้องคิดพิจารณาให้ดี และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลี่ยงที่จะปีนฟูจิในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดในช่วงเทศกาลต่างๆ เพียงเท่านั้นเอง
ประการที่ 3 เรียนรู้สภาพ (ร่างกายของตนเอง)
รู้เขามาเยอะแล้ว..มารู้เรากันบ้าง เพราะนอกจากปัจจัยภายนอกจะจำเป็นในการเตรียมตัวเพื่อขึ้นฟูจิแล้ว ปัจจัยภายในซึ่งก็คือสภาพจิตใจและสภาพร่างกายของนักปีนเขาทั้งหลายก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
เชื่อว่าผู้ที่ตัดสินใจจะไปปีนฟูจินั้นมีสภาพจิตใจนั้นเกือบเต็มร้อยอยู่แล้ว แค่อาจจะหวั่นๆ อยู่บ้างสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไป เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการเตรียมตัวตามสองประการด้านบนให้พร้อม
เสียงนกเสียงกา (อันที่จริงก็คือคำเตือนและคำแนะนำของผู้คนรอบข้าง) ซึ่งจะเริ่มมีมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่เราตัดสินใจบอกใครๆ ว่าจะไปปีนฟูจิแล้ว และจะมีมากขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อใกล้วันเดินทาง สร้างความไหวหวั่นต่อสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงได้เป็นอย่างมาก
แนะนำว่ารับฟังไว้ให้หมด เพราะส่วนใหญ่มักจะจริงดังคำเตือนเหล่านั้น (ก็มันคล้ายๆ กันหมดนี่) เราเพียงแต่เตรียมตัวให้พร้อม สุดท้ายใจเราก็จะพร้อมไปเอง
ส่วนสภาพร่างกายนั้น ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ แม้ยอดฟูจิจะไม่ใช่พี่น้องกับยอดเขาเอเวอเรสต์ นักปีนเขาทุกคนก็ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม รักษาสุขภาพให้ดี ออกกำลังกายให้ร่างกายคุ้นชินกับการเดินทางไกลบ้าง
หัดใช้บันไดขึ้นและลงอาคารเข้าไว้ เพราะการปีนฟูจิจะใช้กล้ามเนื้อคล้ายๆ กับการขึ้นลงบันไดมากๆ เลย และที่อยากจะแนะนำเป็นพิเศษก็คือทำการยืดเหยียดร่างกายเสมอๆ บางคนนั่งทำงานอยู่แต่ในออฟฟิศทุกวันไม่ค่อยได้ยืดแข้งยืดขา ก็ทำซะบ้าง
คุณได้ใช้เส้นเอ็นมากมายระหว่างการปีนฟูจิแน่นอน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เพราะหลังและไหล่ก็ต้องแบกกระเป๋าเป้ ต้องคอยรับน้ำหนักรวมถึงช่วยในการทรงตัว มือและแขนต้องพร้อมเสมอที่จะไขว่คว้าพยุงตัวอย่างมั่นคงเมื่อเราสูญเสียการทรงตัว
และตั้งแต่สะโพกลงไปเราต้องใช้สมาธิในการสั่งงานกล้ามเนื้อให้ดี มิเช่นนั้นจะบาดเจ็บได้ง่ายๆ โดยเฉพาะขาลงกรุณาระวังหัวเข่าเอาไว้ให้ดี อย่าได้เกร็งเป็นเด็ดขาด เดียวจะหาว่าไม่เตือน! และควรติดยาสามัญและยาประจำตัวไปด้วย อย่างน้อยพลาสเตอร์ยาก็ช่วยป้องกันรองเท้ากัดได้ละนะ
การออกกำลังกายนี้ก็เป็นประโยชน์ในระยะยาวนะ ถ้าหากเราทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ แม้จะกลับมาจากการปีนฟูจิแล้วก็ตาม
โดยส่วนตัวแล้ว..คิดว่าเวลาหนึ่งเดือนในการเตรียมร่างกายนั้นค่อนข้างกะทันหัน แม้ว่าตอนไปปีนฟูจิจริงๆ คนญี่ปุ่นจะบอกว่าเขาอยากมา เขาก็มาไม่ได้ฟิตมากมายอะไรเลยก็ตาม
เราก็เห็นจริงว่า การเตรียมตัวประการที่ 3 นี้แม้จะสำคัญ แต่ยังสู้ประการที่ 1 และ 2 ไม่ได้ เด็ก 7 – 8 ขวบ รวมถึงคุณปู่คุณย่า (ไม่ใช่แค่คุณลุงคุณอานะ) ก็เห็นเดินขึ้นฟูจิกันให้ขวักไขว่ กะเอาด้วยสายตา น่าจะมากกว่า 45% ของคนที่ขึ้นฟูจิในแต่ละวันเสียด้วยซ้ำ แต่ที่แน่นอนพวกเขาเตรียมอุปกรณ์มาปีนกันแบบครบเป๊ะ..
ถ้าไม่ได้มีความอยากมากมายเป็นพิเศษที่จะไปปีนฟูจิในฤดูกาลอื่นๆ (ซึ่งถึงขนาดต้องทำเรื่องขออนุญาตกันเลยทีเดียว) การศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวการเดินทางโดยทั่วๆ ไปตามข้างต้นก็นับว่าเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว
แต่ถ้าหากอยากจะเพิ่มเติมความอภิรมย์ในการเดินทาง อย่างเช่น จะเอาหนังสือไปอ่านเล่นที่ Mountain Hut หรือเอาเพลงมาเสียบหูฟังระหว่างเดินทางขึ้นสู่ยอดเขา อันนี้ก็ตัวใครตัวมันลองพิจารณาดูเอาเองว่า เวลาไม่กี่ชั่วโมงที่จะได้พักเหนื่อย ท่านจะนอนหรือท่านจะอ่านหนังสือ
และระหว่างเส้นทางอันสวยงามในวันที่อากาศดีๆ และบางจุดก็มีเสียงนกเจื้อยแจ้วกับเสียงลมพัดบนยอดเขา ครั้งหนึ่งในชีวิตที่มาปีนฟูจิท่านจะฟังเสียงธรรมชาติหรือฟังเพลงที่ท่านเตรียมมา
แต่ที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวก็เห็นจะเป็นการพกขนมไปกินระหว่างเดินทาง อันที่จริงก็ไม่ได้เตรียมอาหารการกินอะไรไปมาก (เกรงว่าจะหนัก) แค่ขนมปังหนึ่งก้อน ช็อกโกแลตสองกล่อง กับโค้กและน้ำอีกอย่างละขวดเท่านั้น (ชอคโกแลตกับโค้กช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวเพราะความสูงได้ดีนะจะบอกให้)
เนื่องจากสินค้าทุกชนิดบนฟูจิซึ่งหาซื้อได้ตาม Mountain Hut ต่างๆ นั้นจะมีราคา 2 – 3 เท่า เมื่อเทียบกับพื้นราบ สินค้าบางอย่างยิ่งสูงยิ่งแพงจริงๆ ไม่เฉพาะอาหารและน้ำเท่านั้น แบตเตอรี่สำหรับกล้องหรือไฟฉาย รวมถึงออกซิเจนกระป๋องก็เช่นเดียวกัน การเตรียมของกินไปด้วยจึงถือเป็นเรื่องฉลาดแบบสุดๆ แต่ก็หนักเอาการถ้าเตรียมไปเยอะเกินไป
รวมถึงต้องคอยระวังเรื่องการทิ้งถุงและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วย เราจะต้องนำขยะของเรากลับลงมาด้วย เพราะบนฟูจินั้นไม่มีถังขยะ ดังนั้นเตรียมถุงขยะใบเล็กๆ ไปด้วยจะดีมาก
สิ่งที่เราควรเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวไปปีนฟูจิหลักๆ ก็ประมาณนี้แหล่ะ สำหรับรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่พักต่างๆ บนภูเขา และข้อควรระวังต่างๆ ในการเตรียมตัวการเดินทาง ก็ติดตามอ่านกันได้ใน marumura เช่นกัน จะมีมาเพิ่มเติมอีกมากมาย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ที่สนใจปีนฟูจิ เดินทางได้สนุกขึ้นอย่างแน่นอน
และขอย้ำอีกครั้งว่าการปีนฟูจิไม่ได้มีอะไรน่ากลัวมากมาย มิฉะนั้นผู้คนนับล้านคงไม่เดินกันเนืองแน่นภูเขาไฟฟูจิในทุกฤดูร้อน หรือถ้าหากอยากได้ตัวช่วยให้อุ่นใจก็แนะนำว่าไปจองแพ็คเกจทัวร์ปีนฟูจิกับบริษัททัวร์ที่ญี่ปุ่นซะเลย ไปจอยกรุ๊ปกับคนอื่นๆ มีไกด์คอยดูแลก็คงจะพอให้ใจชื้นขึ้นได้บ้างนะ
ส่วนในครั้งหน้า.. มาติดตามกันว่าการปีนขึ้นสู่ยอดเขาฟูจินั้น มีความยากลำบาก หรือมีความน่าสนใจอย่างไร
ขอบอกไว้ก่อนว่า การเตรียมตัวก่อนการก้าวเท้าขึ้นสู่ภูเขาไฟฟูจินั้น เป็นตัวแปรหลักอย่างหนึ่งที่จะบอกว่าประสบการณ์ในการปีนสู่ Top of Mt. Fuji ของคุณนั้นจะดี หรือจะเลวร้ายกันแน่ ดังนั้นพึงระลึกไว้ว่า อย่าดูถูกฟูจิ..ภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ของชาวญี่ปุ่นโดยเด็ดขาด
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 5 เส้นทางขาลงจากภูเขาไฟฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 4 พระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขาฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 3 การเดินขึ้นฟูจิและที่พักบนฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 2 มือใหม่หัดปีนภูเขาไฟฟูจิ) =
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– โคจิ (Kochi) แดนเกิดแห่งซามูไรหัวก้าวหน้าแห่งแคว้นโทสะ
– Airport Limousine Bus
– เปิดโปงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (ตอนแรก)
– Kanagawa ดินแดนอุดมแหล่งท่องเที่ยวแห่งคันโต
– Chiba ประตูสู่ภูมิภาค Kanto แห่งญี่ปุ่น
สนับสนุนโดย :