ปีนฟูจิ..หากเตรียมตัวมากก็พร้อมมาก หากเตรียมตัวน้อยก็อาจจะไม่ค่อยพร้อมสักเท่าไหร่ และผลลัพธ์ก็จะแสดงออกมาตอนที่เราไปผจญภัยอยู่บนภูเขาไฟฟูจินั้นแหล่ะ ถึงตอนนั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว
สนับสนุนโดย :
จากความเดิมตอนที่แล้ว..ซึ่งกล่าวถึงการเตรียมตัวเพื่อไปปีนภูเขาไฟฟูจิ (Climbing Mt. Fuji) นั้น จะเห็นได้ชัดว่าเราอยากจะนำเสนอวิธีการขึ้นฟูจิสำหรับมือใหม่จริงๆ เพราะจะต้องศึกษาหาข้อมูลกันเยอะ ตั้งแต่เสื้อผ้า การเตรียมร่างกาย อาหารการกิน เส้นทางที่เหมาะสม และแม้กระทั่งช่วงเวลาที่เราควรไปปีนฟูจิ
หากเตรียมตัวมากก็พร้อมมาก หากเตรียมตัวน้อยก็อาจจะไม่ค่อยพร้อมสักเท่าไหร่ และผลลัพธ์ก็จะแสดงออกมาตอนที่เราไปผจญภัยอยู่บนภูเขาไฟฟูจินั้นแหล่ะ ถึงตอนนั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว
ดังนั้นเพื่อความสุขและสนุกในการเดินทาง และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง มือใหม่ (และมือเก่า) ทั้งหลาย กรุณาเตรียมตัวให้เยอะเข้าไว้
ในครั้งนี้เพื่อความสะดวกและปลอดภัย เราจึงเลือกเส้นทางยอดนิยมสำหรับนักปีนเขามือใหม่ในการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น นั่นคือเส้นทางสายสีเหลือง Yoshida Trail ซึ่งสถานีที่ 5 (Fuji Subaru Line 5th Station) ของเส้นทางนี้ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน
เชื่อว่าผู้ที่เคยขึ้นภูเขาไฟฟูจิด้วยรถบัสท่องเที่ยวทั้งหลาย ก็คงเคยมาถ่ายรูปและช้อปปิ้งขนม ของฝาก ของที่ระลึกของภูเขาไฟฟูจิที่นี่กันเกือบจะทั้งนั้น
Yoshida Trail เป็นเส้นทางที่เดินค่อนข้างง่าย (โอกาสหลงน้อยหน่อย) และมีเพื่อนร่วมทางจำนวนมาก แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เลือกใช้บริการเส้นทางนี้ก็เพราะมีรถบัสโดยสารระหว่างสถานีที่ 5 ของภูเขาไฟฟูจิและสถานีรถบัสคาวาคูชิโกะ (Kawaguchiko Eki) ค่อนข้างมาก และราคาก็แค่เที่ยวละ 1,000 เยนเท่านั้น
สะดวกสุดๆ สำหรับมือใหม่ที่ไม่ขอเริ่มต้นการเดินทางสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิตั้งแต่สถานีที่ 1 และอยากจะขอย่นระยะทางให้เหลือสักกึ่งหนึ่ง โดยมาเริ่มต้นที่สถานีที่ 5 แทน
และสำหรับผู้ที่ออกเดินทางมาจากกรุงโตเกียวก็สามารถใช้บริการรถบัสโดยสารมุ่งหน้าตรงขึ้นสู่สถานีที่ 5 แห่งนี้ได้เช่นเดียวกัน
การที่มีรถบัสโดยสารสาธารณะบริการแบบนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเองเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าบรรดานักปีนฟูจิส่วนใหญ่จะเป็นนักผจญภัยที่ชื่นชอบการเดินทางด้วยตนเอง
แม้ว่าจะเห็นนักปีนเขามือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ใช้บริการบริษัทนำเที่ยวเพื่อขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิเป็นหมู่คณะและได้ความอุ่นใจในการเดินทาง แต่สำหรับคนไทยแล้ว มักจะนิยมเดินทางกันเองเสียมากกว่า..
เอาล่ะ! กายพร้อม ใจพร้อม สัมภาระพร้อม เราก็ได้เวลาออกเดินทางสู่ยอดเขาฟูจิกันแล้ว
แต่อย่าเพิ่งใจร้อนไปนะจ้ะ..
เมื่อจับรถบัสจากสถานีคาวาคูชิโกะไปถึงสถานีที่ 5 (Fuji Subaru Line 5th Station) แล้ว โปรดไปสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้าบนสถานีที่ 5 กันสักนิดเพื่อความเป็นสิริมงคล
ซื้อน้ำซื้อขนมติดตัวไว้กินระหว่างทาง เช็คสัมภาระให้ชัวร์อีกสักรอบว่าไม่มีอะไรขาดเหลือ เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ส่งโปสการ์ดบอกทางบ้านอีกสักทีว่ากำลังจะไปปฏิบัติภารกิจปีนฟูจิแล้ว หรือจะถ่ายรูปเล่น ชมบรรยากาศนักปีนเขาที่กำลังเตรียมตัวเดินขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิ และบางส่วนก็เพิ่งกลับลงมา
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที จะดีต่อตัวท่านเองเป็นอย่างมาก ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะเราต้องปรับสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับระดับความสูง อย่างที่เคยเตือนไว้ในตอนที่แล้วเกี่ยวกับการเตรียมตัวปีนฟูจินั่นเอง
จากนั้นก็เริ่มออกเดินทาง (เดินเท้า) พร้อมโบกมืออำลาสถานีที่ 5 เพื่อไปยังจุดหมายต่อไปของเราได้เลยภูเขาไฟฟูจิ..สถานีที่ 6 (เราเลือกออกเดินทางในช่วงบ่าย เพื่อจะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขาฟูจิในช่วงเช้า)
จากจุดนี้สู่สถานที่ 6 เป็นเส้นทางระดับออเดิร์ฟ เรียกน้ำย่อยกันก่อน เพื่ออบอุ่นร่างกาย พื้นผิวทางเดินมีทั้งหิน ดิน ทราย ครบถ้วน แต่เดินไม่ยาก เดินผ่านป่าเขาลำเนาไพร ชมนกชมไม้ ฟังเสียงธรรมชาติไปเรื่อยๆ
ถ้าอากาศดี ท้องฟ้าโปร่งก็จะเห็นวิวทิวทัศน์ที่บริเวณพื้นราบ เห็นแค่นี้ก็ปลื้มกับการตัดสินใจมาปีนฟูจิแล้ว
ในระยะทางช่วงนี้เราจะสามารถมองเห็นสถานีที่ 5 แห่งเดิมของเส้นทางนี้ ซึ่งมีชื่อว่า Yoshida Trail 5th Station และยังคงมีผู้ใช้บริการอยู่เช่นเดียวกัน โดยผู้ที่เดินทางมาจาก Yoshida Trail 5th Station และ Fuji Subaru Line 5th Station เมื่อเริ่มต้นออกเดินทางไม่นาน ก็จะมาใช้เส้นทางร่วมกัน (เส้นทาง Yoshida Trail – Kawaguchiko Trail)
จุดนี้ต้องจำกันหน่อย เพราะขากลับลงมาจะได้ไม่หลงทาง
(ก่อนถึงทางที่จะมาบรรจบกัน..จึงเป็นเส้นทางลงเขา เดินง่ายๆ สบายๆ แต่พอถึงทางเชื่อมแล้ว จึงจะเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขา สลับกับพื้นที่ราบเป็นช่วงๆ จะเริ่มได้เหงื่อกันในช่วงนี้นี่แหล่ะ)
หลังจากชมนกชมไม้ ชมวิวธรรมชาติ และหยุดพักริมทางบ้างเพื่อปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับความสูง (อันที่จริงก็คงเพราะเหนื่อยกันซะมากกว่า
สำหรับมือใหม่แล้วคงต้องใช้เวลาอบอุ่นร่างกายกันนานหน่อย แต่ขอแนะนำว่าอย่าพักครั้งละนานๆ เดี๋ยวเครื่องจะเย็นจนเรารู้สึกหนาวแทน ก็มันยิ่งสูงยิ่งหนาวนี่) ใช้เวลาไม่นานนัก ประมาณครึ่งชั่วโมงเราก็จะมาถึงสถานีที่ 6 บนภูเขาไฟฟูจิ ที่นี่จะมีบริการห้องน้ำ ซึ่งต้องทำใจเรื่องความสะอาดกันหน่อย เพราะมีผู้ใช้บริการเยอะและน้ำสะอาดก็คงไม่อุดมสมบูรณ์นัก
ที่นี่มีศูนย์ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยแห่งภูเขาไฟฟูจิอยู่ด้วย จุดนี้มีโบรชัวร์ที่เป็นเสมือนแผนที่บอกเส้นทางการเดินทางสาย Yoshida Trail – Kawaguchiko Trail อยู่ ทั้งที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน แล้วก็ภาษาอังกฤษ แนะนำว่าหยิบติดมือมาด้วยสักแผ่น เพราะสามารถใช้เป็นยันต์กันหลงได้เช่นเดียวกัน
ที่สถานีที่ 6 นี้ มีสิ่งปลูกสร้างที่มองดูแล้วก็อาจจะขัดหูขัดตาไปบ้าง เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร อันที่จริงเจ้าสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกล่องเหล็กสีสนิมนี้เป็นอุโมงค์อย่างหนึ่ง สาเหตุที่ต้องมีมันอยู่ที่นี่ก็เพราะว่าภูเขาไฟฟูจินั้น ในฤดูหนาวมักจะเกิดหิมะถล่ม ส่วนในฤดูร้อนก็สามารถเกิดดินถล่ม (Land slide) ได้
ในอดีตบริเวณนี้เคยเกิดดินถล่มและมีนักปีนเขาเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าบริเวณนี้อาจจะเกิดเหตุดินถล่มได้อีก
เจ้าสิ่งปลูกสร้างนี้จึงถูกสร้างขึ้นมา เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน นักปีนเขาก็สามารถวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในอุโมงค์เพื่อความปลอดภัยได้ เห็นมั้ยล่ะว่าการปีนฟูจินั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ อย่าได้ดูถูกกันเลยทีเดียว เปิดหู เปิดตา ให้กว้างเข้าไว้ คอยสังเกตสิ่งรอบตัว แล้วจะดีกับตัวท่านเอง
ณ จุดนี้ (สถานีที่ 6) เราควรหยุดพักสัก 5 – 10 นาที เพื่อปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับความสูงของภูเขา และไม่ควรนั่งพักนิ่งๆ เพราะร่างกายจะเย็นจนเรารู้สึกหนาว ซึ่งไม่ใช่สิ่งดีเลยหากเราจะรู้สึกร้อนเพราะการเดินและหนาวเพราะลมบนที่สูงสลับกันไปมาอย่างนี้
พยายามทำร่างกายให้มีอุณภูมิคงที่เข้าไว้จะดีที่สุด ภูเขานั้นยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว ยิ่งสูงก็ยิ่งมีออกซิเจนให้เราหายใจน้อยลง และเคยเตือนเอาไว้แล้วว่าอาการป่วยบนที่สูงเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย
นอกจากจะทำให้เรารู้สึกแย่แล้ว การนำคนป่วยลงจากภูเขาสูง ก็ลำบากเพื่อนร่วมเดินทางด้วยเช่นกัน ขอย้ำว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันไม่สนุก!
ออกเดินทางมาได้ไม่นาน เราก็ผ่านมาได้ 1 สถานีแล้ว ซึ่งจากคำแนะนำของเพื่อนๆ หลายคน และอ้างอิงจากคำพูดของคุณคริส ไกด์ภูเขาไฟฟูจิชาวอเมริกันของเรา ซึ่งสรุปได้ใจความว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” ดังนั้นการเดินทางสู่ยอดเขาฟูจิของเราควรจะเป็นมหากาพย์ ไปอย่างช้าๆ ไปแบบเต่าที่ชนะกระต่าย
ไม่ว่ากระต่ายชาวญี่ปุ่น ฝรั่ง จีน หรือชาติไหนๆ จะเดินแซงเราไปสักกี่คน ก็อย่าไปสนใจ ตราบเท่าที่ร่างกายเรายังดี จิตใจเรายังผ่องแพ้ว ยังดื่มด่ำกับความงามตามธรรมชาติ และทิวทัศน์รอบตัวได้อยู่ ปล่อยกระต่ายไป เพื่อตัวเราเอง เราจะไปอย่างเต่า..เต่าที่ชนะกระต่าย!
ตอนนี้ก็ขอให้เพื่อนๆ ซ้อมท่องคาถาของเราเอาไว้ก่อน เพื่อเตรียมรับมือกับเส้นทางช่วงต่อไป จากสถานีที่ 6 มุ่งหน้าสถานที่ 7 เพิ่มดีกรีความยากขึ้นมาอีกเล็กน้อย เน้น! ว่า..เล็กน้อย คาถาที่ว่านี้ก็คือ…
ก้าวสั้นๆ และหายใจ… ก้าวสั้นๆ และหายใจ… ก้าวสั้นๆ และหายใจ…
พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดี…
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 5 เส้นทางขาลงจากภูเขาไฟฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 4 พระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขาฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 3 การเดินขึ้นฟูจิและที่พักบนฟูจิ) =
= ปีนฟูจิ (ตอนที่ 1 การเตรียมตัวขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิ) =
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– Asakusa Samba Carnival
– Tokushima ประตูสู่เกาะชิโกกุ
– เปิดโปงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (ตอนหลัง)
– ปีนฟูจิ (ตอนที่ 1 การเตรียมตัวขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิ)
– โคจิ (Kochi) แดนเกิดแห่งซามูไรหัวก้าวหน้าแห่งแคว้นโทสะ
สนับสนุนโดย :