การพยากรณ์อากาศของญี่ปุ่นมันดีกว่าของเมืองไทยตรง “ความถี่ในการออกอากาศ” และ “ความน่ารัก/เข้าใจง่าย” ค่ะ รายการโทรทัศน์ช่วงเช้าของทุกช่อง จะมีนาฬิกาบอกเวลาและพยากรณ์อากาศแปะค้างเติ่งอยู่ตรงมุมซ้ายบนจอเสมอ จนถึงช่วงสายประมาณ 10 โมงโน่น
เช้าวันอาทิตย์ เกตุวดีออกไปช่วยแม่ตากผ้าที่หน้าบ้าน แม่ก็มองท้องฟ้าไป สะบัดผ้าไป และเปรยขึ้นว่า “ท้องฟ้าครึ้มๆ อย่างนี้ ฝนมันจะตกไหมเนี่ย เกตุว่าไง”
ดิฉันกำลังจะอ้าปากตอบว่า “ไม่ทราบค่ะ พ่อไม่ได้ทำงานที่กรมอุตุฯ” แต่คิดขึ้นมาได้ว่า แม่น่าจะรู้เรื่องของพ่อดีกว่า และดิฉันก็อยากรักษาชีวิตเพื่อเขียนบทความ Japan Gossip ต่อไป เลยเปลี่ยนใจมานั่งวิเคราะห์สถานการณ์อยู่คนเดียว…
บ้านดิฉันเลือกวันที่ซักผ้าตามปริมาณเสื้อผ้าที่กอง พอเสื้อผ้ากองได้ที่ในระดับหนึ่ง เช้าวันถัดมาคือวันซักผ้า เราไม่เคยกะว่าต้องซักทุกกี่วัน และไม่เคยดูพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เงยหน้ามองฟ้าแล้วเดา พร้อมกับหวังนิดๆ ว่า “วันนี้ฝนคงไม่ตกแหละ”
คนไทยขาดการวางแผนหรือเปล่า ดิฉันยังตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ดิฉันคิดว่าคนญี่ปุ่นมีข้อมูลและเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผน (การซักผ้า) ได้ดีกว่าคนไทยค่ะ
รายการพยากรณ์อากาศที่ญี่ปุ่นจะเริ่มประมาณตี 5 หรือ 6 โมง และช่วงหลังจบข่าวภาคค่ำของแต่ละวัน มีนักข่าวออกมาอธิบายเมฆ ลม ฟ้า ฝน อุณหภูมิ ไม่ต่างจากของไทยเท่าไรค่ะ
“แล้วหล่อนจะเล่าเรื่องนี้ทำไมยะ”
อ๊ะๆ …ใจเย็นๆ ค่ะ พยากรณ์อากาศญี่ปุ่นมันดีกว่าของเมืองไทยตรง “ความถี่ในการออกอากาศ” และ “ความน่ารัก/เข้าใจง่าย” ค่ะ
รายการโทรทัศน์ช่วงเช้าของทุกช่อง จะมีนาฬิกาบอกเวลาและพยากรณ์อากาศแปะค้างเติ่งอยู่ตรงมุมซ้ายบนจอเสมอ จนถึงช่วงสายประมาณ 10 โมงโน่น ไม่ว่าจะเป็น ….


(แม้วงฮิต Arashi จะมาเยือนรายการ หนุ่มๆ ทั้งห้าก็ไม่สามารถแย่งพื้นที่อุณหภูมิสูง/ต่ำสุด และสภาพอากาศไปจากจอได้)

ข้อดีของการที่มีข้อมูลลมฟ้าอากาศค้างบนจอตลอดเวลา คือ เราไม่ต้องรีบตื่นเช้ามาดูว่าวันนี้ฝนตกหรือแดดออก ตื่นสัก 8 – 9 โมง ก็ยังรู้อุณหภูมิอากาศวันนี้ได้
ว่าแล้ว ดิฉันเลยลองจำลองภาพการรายงานข่าวและอากาศแบบญี่ปุ่นในรายการโทรทัศน์ไทยรายการหนึ่ง

ดิฉันพบว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่จอโทรทัศน์ยังพอมีพื้นที่เหลือสำหรับลมฟ้าพยากรณ์อยู่บ้าง
ข้อดีอีกประการของการนำระบบญี่ปุ่นมาใช้ คือ ผู้ชมจะได้ไม่ต้องคอยส่ง sms มาอัพเดทสภาพอากาศในแต่ละท้องที่นะคะ พอกันทีกับการรายงานข่าวจากผู้ชมทางบ้านแบบสมัครเล่นจำพวก “ภูเก็ตร้อนตับแตก” หรือ “ลำปางหนาวมาก!”
ทว่า ช่วงหลังๆ พยากรณ์อากาศญี่ปุ่นโดนคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างแอพฯพยากรณ์อากาศทางมือถือโจมตี สถานีโทรทัศน์เลยต้องพยายามปรับปรุงและสรรหาข้อมูลใหม่ๆ เช่น
พยากรณ์ระดับความเหมาะสมในการซักผ้า (แห้งเร็ว/แห้งช้า)!

ถ้าช่วงใกล้ซากุระบานหรือใบไม้เปลี่ยนสี ก็จะมีพยากรณ์ดอกไม้ใบไม้ทั้งประเทศค่ะ ^^


เท่านั้นยังไม่พอ รายการพยากรณ์อากาศของญี่ปุ่นยังห่วงใยถึงสุขภาพประชาชนด้วย ช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ดอกต้นสนมีละอองเกสรเยอะมาก คนญี่ปุ่นหลายคนแพ้ละอองสนพวกนี้ ทางรายการก็มีการพยากรณ์ปริมาณละอองเกสรต้นสนด้วยค่ะ
สีเทาคือ ไม่มีละออง สีฟ้า คือ เริ่มมีละอองปลิวเล็กน้อยแล้ว สีส้มคือ ละอองพัดเต็มไปหมด จงระวังจมูกและปอดท่านให้ดี

นอกจากนี้ ยังมีพยากรณ์การปวดเอว/ปวดข้อ โดยโยงเข้ากับอุณหภูมิและปริมาณความชื้น เพราะคนมักจะปวดข้อช่วงวันที่อากาศหนาวและแห้งมากค่ะ เข่าสีแดง คือ “คุณเจ็บแน่วันนี้” เข่าสีฟ้าคือ “อาการคงไม่หนักเท่าไร”

รูปหัวใจ แสดงถึงความดันโลหิต วันไหนความดันคุณจะขึ้นหรือไม่ขึ้น ก็ทำนายได้จ้า รูป icon น่ารักมาก ^^

หวังว่า มีผู้จัดรายการโทรทัศน์ไทยอ่านคอลัมน์นี้อยู่บ้าง ลองเอาไปทำเป็นไอเดียนะคะ ชาวไทยจะได้วางแผนในการซักผ้า พกร่ม จัดหยูกยารักษาดูแลสุขภาพตัวเองได้สะดวกกว่าเดิม^^
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– Miyazaki แดนแห่งน้ำตกสวยชายทะเลงาม
– เที่ยว Hokkaido หน้าหนาว.. กับกิจกรรมสุดเปรี้ยว
– Shopping in Japan กับเหรียญ 1 เยน
– 10 อันดับย่านช้อปปิ้งในโตเกียวที่คนญี่ปุ่นอยากไปมากที่สุด
– โออิตะ (Oita) แดนแห่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura