เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 9 : ตามรอยการ์ตูนที่สถานีตำรวจก็ได้เหรอ ? ไปดูโปสเตอร์มังงะป้องกันภัยที่สถานีตำรวจกัน !!
เรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก อิชั้นและเพื่อนร่วมทริปไปเที่ยว “นิกโก้” โดยการขับรถเที่ยวกัน กำหนดการของเราคือ เช่ารถแล้วขับไปนิกโก้แล้วค้าง 1 คืนที่โรงแรมที่มีออนเซน แล้วขับรถขึ้นไปดูทะเลสาปบนภูเขาแล้วเดินทางกลับเย็นๆ เป็นทริปพักผ่อนท่องเที่ยวธรรมดา ซึ่งก็เรียบร้อยดี
หลังจากพักผ่อนแช่น้ำร้อน ดูธรรมชาติกันแล้วก็เดินทางกลับ ซึ่งเรื่องมันเริ่มตรงนี้ละ เมื่อกลับมาถึงที่พัก 1 ในสมาชิกของเรา “พาสปอร์ตหาย” เท่านั้นยังไม่พอ “กระเป๋าเงินก็ยังหายอีกด้วย !!!” นั่นเพราะเก็บไว้ที่เดียวกัน แม้จะดึกแล้วแต่เราก็มานั่งทบทวนกันว่าน่าจะตกหล่นลืมตรงไหน จนกระทั่งฟันธงกันได้ว่าต้องหายที่ LAWSON สาขาระหว่างทางด่วนที่เราแวะซื้อน้ำและของกินแน่ๆ
แต่ปัญหาคือ เราแวะแบบไม่ได้ดูแผนที่ เราไม่รู้ว่า LAWSON สาขาไหน ? เดชะบุญ ที่อิชั้นหัวหน้าทริปเป็นลูกอีช่างเก็บ เลยล้วงกระเป๋าซ้ายที่ปกติจะยัดทุกใบเสร็จของแต่ละวันไว้ไม่ทิ้ง และโชคดีจริง ๆ ที่ใบเสร็จร้านนั้นยังอยู่ เราเลยค้นเบอร์จากสาขาแล้วโทรไปทันที เจ้าของทรัพย์สินพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เลยให้โทรไปที่ LAWSON พอขอสายพนักงานคนที่พอพูดอังกฤษได้ และเริ่มสอบถามว่า เห็นกระเป๋าและพาสปอร์ตหรือไม่ ? เขาตอบกลับมาว่าอยู่ที่เขาแล้ว มีคนเก็บได้หน้าร้านเลยเอามาวางให้ พวกเราดีใจกันมาก เพราะถ้าพาสปอร์ตหายต้องดำเนินการกับสถานทูต ใช้ทั้งเวลาและกระทบกับทริปการเดินทางที่เหลือ
แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ทางเราพยายามขอให้เขาเก็บกระเป๋าและพาสปอร์ตไว้ที่เขา แต่พนักงานที่สนทนาด้วย อธิบายว่า “ไม่สามารถทำได้ เขาจะส่งไปให้ตำรวจที่สถานีแถวนั้น” ตรงนี้เรางงกันมากว่าทำไมเก็บไว้ไม่ได้ เราอาจพลาดเรื่องการสื่อสารรึเปล่า ? เลยต้องโทรหาพี่ท่านนึงที่อยู่ไทยแกพูดภาษาญี่ปุ่นได้ปร๋อ และหลังจากฝากพี่เขาคุยจึงได้รับทราบเหตุผลว่า “เนื่องจากเขาเข้างานเป็นกะ และเขาจะออกกะตอนตี 5 และการฝากทรัพย์สินที่เก็บได้ฝากคนอื่นต่อ หากเกิดปัญหาเรื่องเงินหาย ของหาย ไม่ครบ คนเก็บอาจถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องร้องได้” แม้ทางเจ้าของจะบอกตรงๆ เลยว่า “เงินเราไม่เอาเลยก็ได้ ไม่ต้องกลัว ให้คุณเลยก็ได้” เขาตอบมาว่า เขารับไม่ได้ และมันมีกรณีที่คนเก็บเงินได้ ถูกฟ้องร้องหลังจากทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ถ้าคุณกลับมาตอนนี้ (ณ ตอนนั้นเกือบ ตี 1 และเราเพิ่งถึงที่พักในโตเกียว) เขาจะเก็บไว้ให้จนกว่าจะออกจากกะตอนตี 5 แต่เราไปไม่ไหว สรุปเราเลยต้องยอมให้เขาเอาไปฝากสถานีตำรวจในพื้นที่นั้นแทน
ดังนั้นเช้ามาเราจึงเปลี่ยนแผนการเดินทาง หลังจากได้พิกัดของสถานีตำรวจที่พนักงาน LAWSON ท่านนั้นนำไปฝากไว้ เราก็ขึ้นทางด่วนขับกลับไปรับของกัน
ขับตามพิกัดกูเกิ้ลแมพมาจนถึงสถานีตำรวจ ซึ่งชื่ออะไรเขตอะไรก็ไม่ได้จำนะ พอไปถึงทางเจ้าของทรัพย์ถูกเชิญไปนั่งต่างหาก เพื่อเตรียมรับของกลับและทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างนั้นอิชั้นที่ว่างก็เลยเดินสำรวจในโรงพักก็พบบอร์ดประชาสัมพันธ์ แบบในสถานีตำรวจบ้านเรา แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนก็คือ โปสเตอร์ในสถานีตำรวจบ้านเรา จะประมาณนี้
อันนี้เตือนระวังการหลอกลวงให้ใส่รหัสกดเงินสด เวลาได้รับ SMS แปลกๆ
ประมาณคนร้ายส่งข้อความมาบอกว่า มีค่าใช้จ่ายใช้งานเว็บไซท์ที่ต้องเสียค่าบริการ ถ้าไม่ไปชำระภายใน… จะดำเนินคดีตามกฏหมาย แล้วพอเหยื่อติดต่อกลับ ก็ให้ไปซื้อบัตรแทนเงินสด อย่าง Amazon Gift Card แล้วหลอกให้บอกเลขรหัสเติมเงินหลังบัตร เป็นต้น
อันนี้ดีมาก มาเป็นห่วงโซ่กรรมเลย เริ่มที่ เมาแล้วขับ-ขับชนคน-ติดคุก-เสียเงินชดใช้ผู้บาดเจ็บ-โดนไล่ออก- เมียหนีบ้านล้ม
พร้อมอัตราโทษ
อันนี้เป็นป้ายรณรงค์ให้คุณแม่เลือกเสื้อที่มีแถบสะท้อนแสง (REFLEX) เวลาใส่เสื้อกันฝนเดินริมถนนเวลากลางคืน
เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ
อันนี้รณรงค์ให้ผู้ปกครองนำเด็กนั่งบน CARSEAT ทุกครั้งในการเดินทาง และรัดเข็มขัดเพื่อป้องกันภัยและลดอุบัติเหตุ
อันนี้เป็นคำแนะนำในการปกป้องทรัพย์สินในรถจากการโจรกรรมรถและทรัพย์สิน
ความยอดเยี่ยมที่สุดของโปสเตอร์ที่ติดที่สถานี คือ แม้คนอ่านจะแปลญี่ปุ่นไม่ออก แต่ดูภาพประกอบก็เหมือนจะพอเข้าใจ 50-70 % ตรงนี้ต้องชมคนออกแบบโปสเตอร์ ที่ใช้ภาพการ์ตูนทำให้การอธิบายเรื่องราวทำได้ดีมาก สมเป็นญี่ปุ่นประเทศที่นิยมสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ด้วยตัวการ์ตูน
และเมื่อรอจนถึงเวลา ทางตำรวจที่พูดอังกฤษได้ ได้เรียกพวกเราไปฟังด้วย โดยเขาอธิบายว่า ทำไมพนักงานถึงต้องนำมาส่งที่สถานี ซึ่งเราได้อธิบายไว้ตอนต้นแล้ว แต่ส่วนที่คุณตำรวจกำชับมาคือ “เมื่อกระเป๋าสตางค์หาย และเราต้องการได้คืน การเสนอเงินที่มีในกระเป๋าให้คนที่เก็บได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเสนอ” ขอให้จำไว้ (ตรงนี้เขาอธิบายสาเหตุมาแต่ฟังไม่ทัน) สรุปคือ เราได้กระเป๋าเงิน พาสปอร์ต และเงินที่ครบถ้วน ทางตำรวจให้เรานับให้ดี และเช็คทุกอย่างในกระเป๋า ซึ่งอยู่ครบ
ก่อนลากลับ เลยบอกทางคุณตำรวจว่า “เดี๋ยวเราจะกลับไปขอบคุณคนที่เก็บทรัพย์สินของเราที่ร้าน LAWSON” ทางตำรวจได้ฟัง รีบยกมือดักกวักมือเรียกพวกเราทันที พร้อมอธิบายว่า “เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ในกรณีที่มีคนนำส่งของมีค่าให้ทางสถานีแล้ว ทางตำรวจจะไม่ให้ข้อมูลหรือให้พบกับผู้ที่เก็บมาได้” พวกเราก็งง เพราะถ้าเป็นเมืองไทย การไปขอบคุณคือเรื่องที่เหมาะสมและสมควร แต่ที่นี่เขาไม่แนะนำ และการไปขอบคุณพนักงานระหว่างทำงานในกะถือเป็นการรบกวนการทำงาน สิ่งที่เราทำได้คือ ขับรถผ่านแล้ว LAWSON สาขานั้น แล้วยกมือไหว้ขอบคุณแบบไทยๆ จากบนรถ
ช่วงนี้จะเขียนเก็บตกเรื่องราวการตามรอยการ์ตูนแบบเป็นเกร็ดความรู้ และจากประสบการณ์เดินทางจริงไปสักพัก เพราะกำลังเตรียมการไปตามรอยการ์ตูนครั้งต่อไปอยู่นะจ๊ะ ส่วนจะเป็นที่ไหน ? ยังไงบ้าง ? ขอให้ติดตามอ่านกันต่อไปนะ
จ ญ น ห อ ด ม
ขอบคุณพนักงาน LAWSON และคุณตำรวจมาก ๆ ค่า
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ FB: เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน
เรื่องแนะนำ :
-เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 8 : ร้านหนังสือมือสอง ที่มีตัวละครการ์ตูนมาช่วยขายกันเต็มร้าน
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 7 ตามรอยบิดาแห่งมังงะ Tezuka Osamu
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตามรอย One Piece ตอนที่ 2
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตามรอย One Piece ตอนที่ 1
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 5 ตามรอยการ์ตูน Tetsujin 28
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 4 ตามรอยการ์ตูนตกปลา BLACK BASS
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 3 : ตามรอยการ์ตูนครั้งแรก Going Merry
– เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามันตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น ตอนที่ 2 คนไทยอยากไปตามรอยการ์ตูนเรื่องอะไรกันนะ ?
#ตามรอยการ์ตูนในญี่ปุ่น