เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 5 : สัมผัสเรือเจ็ตฟอยล์ นิทรรศการเลโก้ และพิพิธภัณฑ์นักบุญกอลเบ
สวัสดีค่ะ จากตอนที่แล้ว ป้าหมวยยยใช้เวลาบนเกาะฟุคุเอะได้แค่สองวัน ก็จำต้องเปลี่ยนแผนจรลีหนีพายุเข้าฝั่งนางาซากิเสียแล้ว
สำหรับวันนี้ไม่มีอะไรมากค่ะ เดินทางเข้าฝั่งแล้วเที่ยวนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น ตอนเช้าป้าเช็คเอาท์จากโรงแรมแล้วขับรถไปคืนที่ Nippon Rent A Car ทางศูนย์มีบริการขับรถเล็กไปส่งถึงท่าเรือด้วยเลยสบายไม่ต้องลากกระเป๋า
เช้านี้ที่ท่าเรือฟุคุเอะคลาคล่ำไปด้วยผู้โดยสารค่ะ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นวันอาทิตย์ที่นักท่องเที่ยวกลับเข้าฝั่งเตรียมไปทำงานวันจันทร์ และข่าวพายุเข้าภูมิภาคคิวชูในช่วงเย็นวันนี้ ทำให้มีต้องยกเลิกเที่ยวเรือในช่วงบ่ายหลายเที่ยว รวมทั้งเรือไทโกะที่ป้านั่งมาด้วย
เคาท์เตอร์ขายตั๋วเรือไทโกะที่ปกติมีเที่ยวเรือจากเกาะฟุคุเอะไปยังฮาคาตะ ช่วง 10 โมงปิดทำการและประกาศหยุดเดินเรือเพื่อความปลอดภัย
จุดบริการการท่องเที่ยวที่ท่าเรือฟุคุเอะ โปรโมทโบสถ์มรดกโลกเต็มที่
ถ้าหิวแล้วยังพอมีเวลาเหลือที่ Fukue Ferry Terminal มีร้านโกโต้อุด้งแบบยืนกินที่เคาท์เตอร์ด้วยค่ะ ชื่อร้านคุอิเต (食い停 Kuitei) นอกจากเมนูอุด้งแล้วก็ยังมีโซบะกับข้าวปั้นโอนิงิริด้วย สั่งกับตู้อัตโนมัติไม่ยุ่งยาก
หน้าร้านคุอิเต เคาท์เตอร์เน้นยืนกิน แต่ก็มีเก้าอี้ให้นั่งสองสามที่
ตู้ขายตั๋วสั่งอาหารแบบอัตโนมัติ เน้นเมนูอุด้งกับโซบะ
ประมาณ 9 โมง ได้เวลาลงเรือเจ็ตฟอยล์แล้วค่ะ ส่วนตัวป้าประทับใจกับเรือนี้ เดี๋ยวป้าขอพูดถึงคร่าว ๆ ว่าเรือนี้ต่างจากเรือทั่วไปอย่างไร เผื่อทุกท่านมีแผนไปท่องเที่ยวตามเกาะใหญ่ ๆ แล้วมีโอกาสได้สัมผัสกับเรือนี้บ้าง
เรือเจ็ตฟอยล์ Tsubasa (เส้นทางนิอิกาตะ – เกาะซาโดะ) ขณะลอยตัวแล่นบนผืนน้ำ ภาพจาก KHI JPS Co., Ltd.
เจ็ตฟอยล์ (ジェットフォイル Jetfoil) คือเรือไฮโดรฟอยล์ (Hydrofoil) ที่บริษัทผลิตเครื่องบินโบอิ้งในอเมริกาเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาค่ะ ปัจจุบันบริษัท Kawazaki Heavy Industry, Ltd. ในโกเบเป็นผู้ถือไลเซนส์ผลิตและจำหน่ายเรือเจ็ตฟอยล์ในไลน์ Boeing 929 รวมทั้งมีสิทธิในการใช้ชื่อการค้า Jetfoil
หลักการทำงานคร่าว ๆ ของเรือเจ็ตฟอยล์คือ ใต้ลำเรือด้านหน้าและด้านท้ายจะติดตั้งขาค้ำยัน (strut) ที่มีฟอยล์ (foil) และแฟลป (flap) อยู่ตรงปลาย แฟลปเป็นชิ้นส่วนคล้ายขอบปีกเครื่องบินที่เลื่อนเข้าออกและขยับขึ้นหรือลงได้ ทำหน้าที่ในสร้างแรงยกตัวและการเลี้ยว ขาค้ำยันและฟอยล์จะยกเก็บขึ้นได้ขณะเรือลอยลำปกติ
เมื่อกางขาค้ำยันและฟอยล์ เริ่มเดินเครื่องยนต์ออกตัว เครื่องพ่นน้ำความเร็วสูง (waterjet propulsor) ตรงท้ายเรือซึ่งเดินด้วยเครื่องยนต์กังหันก๊าซ (gas turbine) 2 ตัว จะดูดและพ่นน้ำทะเลที่อัตรา 3 ตัน/วินาที ขับเคลื่อนเรือไปข้างหน้า
เมื่อเรือทำความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเริ่มเกิดแรงยกที่ฟอยล์ทำให้ลำเรือยกตัวสูงขึ้น และยกตัวพ้นน้ำโดยสมบูรณ์ที่ความเร็ว 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สเต็ปการเดินเรือเจ็ตฟอยล์ (1) ลอยลำ/Hullborne (2) ออกตัว/Takeoff (3) ยกตัว/Foilborne (4) แลนดิ้ง/Landing
การที่ลำเรือยกตัวลอยเหนือน้ำทำให้รับผลกระทบจากแรงเสียดทานของน้ำและคลื่นในทะเลน้อยกว่าเรือปกติ จึงทำความเร็วได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถเดินเรือได้นิ่งแม้ในทะเลคลื่นสูง 3.5 เมตร ทำให้ผู้โดยสารไม่รู้สึกเมาเรือ
เรือเจ็ตฟอยล์มีระบบ Autometic Control System (ACS) ซึ่งมีเซ็นเซอร์มากมายที่จะตรวจสอบการเคลื่อนไหว การทรงตัวของเรือ กัปตันเรือจะเป็นผู้ควบคุมพวงมาลัยทิศทางและคันบังคับความลึกของฟอยล์ตามความสูงของคลื่น และมีการติดตั้ง Active Sonar สำหรับตรวจจับสิ่งกีดขวางที่ลอยอยู่
ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นสำหรับเรือใหญ่ขนาดนี้ถือว่าเร็วมาก เทียบได้กับเครื่องบินบนผืนน้ำเลยทีเดียว แต่เนื่องจากอัตราการบริโภคน้ำมันของเรือสูงมาก ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงแพงตามไปด้วย
เรือประเภทนี้นิยมใช้ในการเดินทางในทะเลเปิดที่มักมีลมและคลื่นสูง นอกจากในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีวิ่งระหว่างฮ่องกง-มาเก๊า (ใช้ชื่อ Turbojet) เกาหลี อังกฤษ สเปน ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย
เรือเจ็ตฟอยล์ขณะจอดอยู่ที่ท่าเรือฟุคุเอะ
เรือเจ็ตฟอยล์ขณะเดินเครื่อง สังเกตลำน้ำที่พุ่งกระจายจากด้านหลังลำเรือ ภาพนี้ป้าหมวยยยถ่ายที่อ่าวนางาซากิ
ในญี่ปุ่นมีเรือเจ็ตฟอยล์ให้บริการหลายเส้นทางค่ะ ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางท้องถิ่นระหว่างแผ่นดินใหญ่และเกาะ มีเส้นทางระหว่างประเทศ 1 เส้นทาง วิ่งระหว่างเมืองฮาคาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ – เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
เส้นทางเรือเจ็ตฟอยล์ที่บริการในประเทศญี่ปุ่น ภาพจาก KHI JPS Co., Ltd.
สำหรับเส้นทางท่าเรือนางาซากิ – ท่าเรือฟุคุเอะ (เมืองโกโต้) โดยจะแวะที่ท่าเรือนาราโอะ (เมืองชินคามิโกโต้) เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1990 โดยบริษัทคิวชูโชเซ็น (九州商船 Kyūshū Shōsen)
เส้นทางเดินเรือ Jetfoil ของบริษัทคิวชูโชเซ็น
เส้นทางเดินเรือ นางาซากิ (長崎 Nagasaki) – นาราโอะ (奈良尾Narao) – ฟุคุเอะ (福江Fukue) มีระยะทางรวม 206.3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 50 นาที ราคาตั๋ว ณ ตอนนั้นเที่ยวละ 5,610 เยนหรือราว 1,600 บาท โดยราคาค่าโดยสารจะมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน
เรือเจ็ตฟอยล์ของบริษัทคิวชูโชเซ็นมีชื่อว่า Pegasus (ペガサス) มีทั้งสิ้น 2 ลำ คือ “Pegasus 1” และ “Pegasus 2” มีสเป็คเหมือนกัน คือ มีเคบินผู้โดยสาร 2 ชั้น บรรจุผู้โดยสารได้ 264 คน ตัวเรือมีน้ำหนัก 163 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 45.6 น็อต (ประมาณ 84.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และความเร็วปกติ 43 น็อต (ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
เรือเจ็ตฟอยล์ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น บนหน้าตั๋วจะระบุชื่อ วันเดือนปี เวลา เส้นทางและที่นั่ง อย่างป้าหมวยนั่งที่ชั้น 1 แถว 12 ที่นั่ง K อยู่ทางกราบขวาติดทางเดิน
ภายในเรือเจ็ตฟอยล์เปกาซัส
ภายในเรือเจ็ตฟอยล์เปกาซัสมีลักษณะผสมกันทั้งเรือ รถไฟ และเครื่องบิน เก้าอี้ติดตั้งไว้แถวละ 3 – 5 ตัว หน้าเก้าอี้กว้างนั่งสบาย มีโต๊ะและที่แขวนตรงพนักพิงอย่างรถไฟ แต่มีเข็มขัดรัดอย่างเครื่องบินซึ่งผู้โดยสารควรรัดเข็มขัดไว้ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย มีชั้นวางสัมภาระเปิดโล่งอยู่ตรงด้านบนกราบซ้ายขวา และมีห้องน้ำให้บริการ
ชั้นวางกระเป๋าสัมภาระขนาดใหญ่ ขณะเรือวิ่งจะติดแถบกั้น ไม่ให้เลื่อนไปมาเช่นเดียวกับในรถไฟ ทางด้านซ้ายมีตู้กดน้ำให้บริการฟรี
เก้าอี้นั่งภายในเรือเจ็ตฟอยล์เปกาซัส มีเสื้อชูชีพใต้เก้าอี้ทุกที่นั่ง
มองไปนอกหน้าต่าง เห็นเรือ PM22 “Fukue” ของกองกำลังป้องกันชายฝั่งแห่งญี่ปุ่น (Japan Coast Guard)
วันนี้เรือเจ็ตฟอยล์เปกาซัสบรรทุกผู้โดยสารเต็มทุกที่นั่งเลยค่ะ ป้าหมวยยยเลยถ่ายภาพได้นิดเดียว เพราะเกรงใจผู้โดยสารท่านอื่น
ป้านั่งเรือเจ็ตฟอยล์เกือบ 2 ชั่วโมง ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งเครื่องบินเพราะเรือนิ่งมาก หลับสบายเลยค่ะ ^ ^
มาถึงท่าเรือนางาซากิราว 11 โมงกว่า ที่ท่าเรือเต็มไปด้วยผู้โดยสาร น่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงสุดท้ายที่บริษัทจะให้บริการเรือได้ก่อนสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงจากพายุที่จะพัดเข้าภูมิภาคคิวชูช่วงเย็นวันนี้
ท่าเรือนางาซากิ มองดูท้องฟ้าเมฆเยอะมาก
สถานีรถไฟ JR นางาซากิ
สามวันนี้ป้าจะพักโรงแรม Orion ค่ะ โรงแรมนี้อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟนางาซากิ สะดวกดี ตอนเอากระเป๋ามาฝากที่โรงแรมเพราะมาถึงก่อนเวลาเช็คอิน เห็นป้ายประชาสัมพันธ์นิทรรศการพิเศษน่าสนใจที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนางาซากิ (長崎歷史文化博物館 Nagasaki Rekishi Bunka Hakubutsukan) หรือ Nagasaki Museum of History and Culture ไหน ๆ ก็ว่างแล้วเลยเดินทางไปดูเลยค่ะ
นิทรรศการพิเศษที่ว่าคือ นิทรรศการ Piece of Peace ซึ่งจัดแสดงตัวต่อเลโก้ที่ทำเป็นรูปสถานที่มรดกโลกต่าง ๆ ค่ะ โดยครั้งนี้มีการจัดแสดงตัวต่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคริสตังลับทั้ง 12 แห่งเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ด้วย
การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ยากเลย สามารถขึ้นรถราง (Streetcar) จากสถานีรถราง Nagasaki ไปลงที่สถานีรถราง Sakuramachi แล้วลงเดินอีก 5 นาทีเท่านั้น
ที่นี่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของนางาซากิและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากต่างประเทศเช่น จีน และชาติตะวันตก ได้แก่ ฮอลันดา ในแง่มุมด้านวัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะ การค้า และวิทยาการอันยาวนานกว่า 400 ปี นับเป็นสถานที่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งค่ะ
ป้ายแสดงนิทรรศการ Piece of Peace
ตัวต่อเลโก้ที่สร้างเป็นสถานที่มรดกโลกแห่งใหม่ทั้ง 12 แห่ง ขนาดไม่ใหญ่นัก ส่วนชิ้นงานอื่น ๆ ที่จัดแสดงมีขนาดใหญ่ ใช้จำนวนตัวต่อเลโกหลายพันชิ้น และใช้เวลาต่อนานประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตามทุกชิ้นงานล้วนเก็บจุดเด่นของสถานที่ออกมาได้อย่างดี และมีป้ายบอกชื่อสถานที่ ประเทศ ตำแหน่งของสถานที่ ปีที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ข้อมูลสถานที่ จำนวนชิ้นเลโก้ ระยะเวลาต่อ และชื่อผู้ต่ออย่างละเอียด
เรามาชมความสวยงามของงานเลโก้กันสักนิดนะคะ
ส่วนจัดแสดงเลโก้มรดกโลกแห่งคริสตังลับ 8 แห่ง
เลโก้มรดกโลกเกี่ยวกับคริสตังลับที่เหลืออีก 4 แห่ง แยกออกมาต่างหาก
(1) ซากปราสาทฮาระ (2) นาขั้นบันไดแห่งหมู่บ้านคาสึงะ
(3) เกาะนาคาเอะโนชิม่า (4) โบสถ์ซาคิทสึแห่งอามาคุสะ

(5) โบสถ์ชิทสึ (6) โบสถ์โอโนะ (7) โบสถ์คุโรชิม่า (8) โบสถ์โนคุบิ
(9) โบสถ์คาชิระงาชิม่า (10) โบสถ์โกะริงเก่า (11) โบสถ์เองามิ (12) โบสถ์โออุระ
สำหรับรายละเอียดของมรดกโลกเกี่ยวกับคริสตังลับทั้ง 12 แห่ง ป้าหมวยยยเคยเขียนไว้ครบหมดแล้วค่ะ
(ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, ตอนที่ 4 และตอนที่ 5)
เลโก้รูปโบสถ์โออุระขนาดใหญ่
ภูเขาฟูจิซัง ครอบคลุมจังหวัดชิสุโอกะและจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น
หมู่บ้านชิราคาวะโกะ อำเภอโอโนะ จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น
เกาะกุงกันจิม่า เมืองนางาซากิ จังหวัดนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น
วัดช้างล้อม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย ชิ้นงานนี้ใช้ตัวต่อถึง 26,000 ชิ้น
นครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
มหาวิหาร Mont-Saint-Michel จังหวัดมองช์ แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส
โบสถ์ Sagrada Familia ของ Antoni Gaudi เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ชิ้นงานนี้มีขนาดใหญ่และรายละเอียดเยอะมาก
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนางาซากิ
• เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์สัปดาห์ที่สามของเดือน
• เวลาทำการ 8:30 – 19:00 น. (เดือนธันวาคม – มีนาคม เปิด 8:30 – 18.00 น. และวันที่ 30 ธันวาคม – 3 มกราคม เปิด 10:00 – 18.00 น.)
• ค่าเข้าชมนิทรรศการถาวร 600 เยนสำหรับผู้ใหญ่ และ 300 เยนสำหรับเด็กนักเรียนทุกระดับชั้น ค่าเข้าชมนิทรรศการพิเศษเสียต่างหากตามแต่นิทรรศการ มีตั๋ว Common Ticket ราคาพิเศษสำหรับผู้เข้าชมที่ต้องการเข้าชมทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการพิเศษ
• ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nmhc.jp/global/english/index.html
จากนั้นป้าหมวยยยขึ้นรถรางสาย 2 ลงสุดสายที่สถานีโฮตารุจะยะ (蛍茶屋 Hotaruchaya) แล้วเดินขึ้นเนินเบา ๆ อีก 650 เมตร (15 นาที) ไปชมสถานพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไร คือ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์นักบุญแม็กซิมิลเลียน กอลเบ (聖コルベ記念館 Sei Kolbe Kinenkan) หรือ Saint Kolbe Memorial Museum ค่ะ
สำหรับคริสตศาสนิกชนคาทอลิกจะรู้จักนักบุญท่านนี้กันดี เล่าคร่าว ๆ คือ ท่านมีชื่อเต็มว่า แม็กซิมิลเลียน มาเรีย กอลเบ (Maximilian Maria Kolbe) เป็นบาทหลวงคณะฟรังซิสกันชาวโปแลนด์ที่ถูกนาซีเยอรมันจับกุมตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านถูกส่งไปที่ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ (Aushwitz) อันเลื่องชื่อถึงความโหดร้ายทารุณ
วันหนึ่งมีคนหลบหนีไปจากค่าย กฏเหล็กที่นั่นคือ เมื่อหนึ่งคนหลบหนี อีกสิบคนจะต้องตายเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ผู้คุมสุ่มเลือกคนสิบคนออกมา รวมทั้งนาย Franciszek Gajowniczek ที่ตกใจร้องคร่ำครวญถึงครอบครัว ท่านกอลเบสงสารจึงอาสารับโทษแทนชายคนนั้น
ทั้งสิบคนถูกนำตัวไปขังและให้อดอาหารในคุก ระหว่างนั้นท่านทำพิธีมิสซาทุกวันด้วยการช่วยเหลืออย่างลับ ๆ ของทหารยาม ผ่านไปสองสัปดาห์เหลือท่านรอดชีวิตเพียงผู้เดียว ทหารต้องการใช้คุกจึงฉีดกรดคาบอลิกให้ท่านตายในวันที่ 14 สิงหาคม 1941
หลังสงครามสิ้นสุด ชายที่ท่านยอมตายแทนรอดชีวิตไปพบครอบครัว และมีชีวิตยืนยาวต่อมาอีกถึง 54 ปีจนเสียชีวิตในปี 1995 ด้วยวัย 93 ปี ส่วนท่านกอลเบได้รับยกย่องเป็นนักบุญโดยพระสันตปาปายอนห์น พอลที่ 2 ในปี 1982
สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่นี่คือสถานที่ที่ท่านแม็กซิมิลเลียน กอลเบเคยมาพำนักเป็นระยะเวลาราว 3 ปี ตั้งแต่ปี 1930 – 1932 เพื่อทำงานแพร่ธรรมและตั้งอารามขึ้นที่นี่
อนุสรณ์ที่ระลึกพระสันตปาปายอห์น พอลที่ 2 เสด็จมาเยือนที่นี่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1982 และรูปปั้นท่านกอลเบในชุดนักบวชฟรังซิสกัน
ทางเข้าหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์นักบุญกอลเบ
ประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ สามารถเข้าชมได้ฟรี
บริเวณพื้นที่บรรยากาศเงียบ ๆ ภายในอาคารจัดแสดงภาพถ่าย ของใช้ส่วนตัวของท่านนักบุญ แท่นเรียงพิมพ์และเครื่องพิมพ์ที่ท่านเคยใช้ในการพิมพ์วารสาร “อัศวินแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล” (無原罪の聖母の騎士 Mugenzai no Seibo no Kishi) ซึ่งยังคงออกจำหน่ายเป็นรายเดือนมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานกว่า 89 ปีแล้ว
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของของพระสันตปาปายอห์น พอลที่ 2 ซึ่งเคยมาเยี่ยมชมที่นี่และ “ห้องนักบุญกอลเบ” ซึ่งมีโต๊ะที่ท่านกอลเบเคยใช้งานจริง ๆ ตั้งอยู่ เมื่อครั้งที่พระสันตปาปายอห์น พอลที่ 2 เสด็จเยือนที่นี่ พระองค์เคยนั่งบนโต๊ะตัวนี้และลงลายมือชื่อ ปัจจุบันอนุญาตให้ผู้มีใจศรัทธาสามารถเข้าไปนั่งรำพึงภาวนาได้
ภาพถ่ายและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่านกอลเบ
ภาพวาดเหตุการณ์และภาพถ่ายสถานที่ในค่ายเอาช์วิตซ์
ห้องนักบุญกอลเบ ตั้งอยู่ตรงกลางพิพิธภัณฑ์
ภายในห้องมีโต๊ะและเก้าอี้ที่ท่านกอลเบเคยใช้ ยังอยู่ในสภาพดีมาก แม้ผ่านเวลามาเกือบ 90 ปี
ภาพวาดเหตุการณ์นักบุญกอลเบรับโทษแทนชายชาวโปแลนด์
ภาพนี้วาดขึ้นในปี 1976 ที่นางาซากิ โดยศิลปินชาวโปแลนด์ Jan Molga (บุคคลในรูปที่ติดอยู่ทางซ้าย) เป็นภาพวาดจำลองเหตุการณ์ที่ท่านกอลเบรับโทษแทน ส่วนบนเป็นภาพท่านนักบุญรับมงกุฎจากพระแม่มารีย์ มงกุฏสีขาวแทนการถือพรหมจรรย์ มงกุฎสีแดงแทนวีรกรรมมรณสักขี ในมือเทวทูตเขียนภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” เป็นข้อความจากพระวารสารนักบุญยอห์น บทที่ 15 ข้อ 13 ที่สะท้อนถึงความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ของท่านนักบุญได้อย่างดี
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์นักบุญกอลเบ
• เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์สัปดาห์ที่สามของเดือน
• เวลาทำการ 9:00 – 15:00 น.
• เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยินดีรับเงินบริจาค
• ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.discover-nagasaki.com/spots/detail/560
บริเวณนี้ นอกจากมีพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีโบสถ์ฮงโกจิ (本河内教会 Hongōchi Kyōkai) อารามและถ้ำแม่พระเมืองลูร์ดด้วย ป้ามีเวลาอีกนิดหน่อยอยากเข้าไปชม แต่ดูท้องฟ้าตอนนั้นแล้วอยู่ต่อไม่ได้แล้วค่ะ เพราะฟ้าเริ่มมืด พายุกำลังเริ่มก่อตัวตามพยากรณ์อากาศเป๊ะ ไว้คราวไหนค่อยมาเก็บเพิ่มเติม
ป้าหมวยยยขึ้นรถรางกลับเข้ามาแถวสถานีนางาซากิ แวะกินข้าวซื้อของกินตุนเผื่อพายุลากยาว พอออกมาจากห้างฝนก็ตกแล้วค่ะ
บรรยากาศฝนตกตรงทางเชื่อมหน้าสถานีรถไฟ JR Nagasaki
สองสามวันนี้จะสบาย ๆ หน่อยเพราะเที่ยวนอกแผน แล้วมาต่อกันตอนหน้านะคะ
เรื่องแนะนำ :
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 4 : ขับรถเที่ยวทั่วเกาะฟุคุเอะ (ภาคปลาย)
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 4 : ขับรถเที่ยวทั่วเกาะฟุคุเอะ (ภาคต้น)
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 3 : ชมเมืองฟุคุเอะและเตรียมรับมือกับพายุ
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 2 : ทัวร์วันเดียวเที่ยวสองมรดกโลก
– เหงื่อโชกชมโบสถ์มรดกโลกนางาซากิ ตอนที่ 1 : ล่องเรือไทโกะไปหมู่เกาะโกโต้
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 5
ข้อมูลจาก
https://global.kawasaki.com/en/corp/newsroom/news/detail/?f=20160617_0758
http://www.khi.co.jp/corp/kjps/english/eindex.html
https://ja.wikipedia.org/wiki/マキシミリアノ・コルベ
http://www.city.nagasaki.lg.jp/nagazine/museum/040216/index.html
#มรดกโลกนางาซากิ #Nagasaki #Kyushu