ทำความรู้จักกับ “เรียวกัง” (Ryokan) ที่พักสไตล์ญี่ปุ่นที่พักที่มีเสน่ห์ ที่ห้องพักปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ มียูกาตะให้เปลี่ยน มีออนเซนไว้ให้แช่ แล้วก็มีที่นอนเป็นฟูตงหรือฟูกสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งฟูตงนี้ก็เป็นทั้งที่นอนและผ้าห่มภายในตัว
ไปญี่ปุ่นทั้งที ไม่ลองเลือกที่พักสไตล์ญี่ปุ่นขนานแท้และดั้งเดิมสักหน่อยเหรอ ชาวญี่ปุ่นมักกล่าวว่า “Go ni itte wa go ni shitagae” ฝรั่งก็ยังว่า “When in Rome, do as the Romans do” ไทยเราจะไม่ลองเอาอย่างสำนวน “เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” ดูบ้างเหรอ น่าจะได้ประสบการณ์การพักผ่อนแบบญี่ปุ่นกันพอสมควรเลยทีเดียวนะ
ที่พักสไตล์ญี่ปุ่นจ๋าที่ว่านี้ ก็คือ เรียวกัง (Ryokan) มีเสน่ห์ที่ห้องพักปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ มียูกาตะให้เปลี่ยน มีออนเซนไว้ให้แช่ แล้วก็มีที่นอนเป็นฟูตงหรือฟูกสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งฟูตงนี้ก็เป็นทั้งที่นอนและผ้าห่มภายในตัว แม้ว่าในปัจจุบันบางเรียวกังจะมีเตียงนอนแบบตะวันตก แต่การนอนบนฟูตงก็แสนสบาย ถ้าไม่มีปัญหาที่หลังนะ นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่รู้จักที่พักแบบนี้กันเป็นอย่างดี เพราะถือว่ามาญี่ปุ่นทั้งที พักที่เรียวกังก็เหมือนได้สัมผัสความเป็นญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั่นเอง
เวลาเข้าพักที่เรียวกังแท้ๆ แขกจะต้องถอดรองเท้าที่ประตูทางเข้า และเปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะสำหรับใส่ภายในบ้าน เหมือนกับธรรมเนียมการเข้าบ้านเรือนของชาวญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ภายในเรียวกัง บางจุดก็จะปูด้วยเสื่อทาทามิ ถ้าเข้าไปในห้องที่ปูด้วยทาทามิ ก็จะต้องถอดรองเท้าแตะ ซึ่งจริงๆ แล้วธรรมเนียมแบบนี้ก็ยังช่วยรักษาความสะอาดให้กับแขกที่จะเข้าพักคนต่อๆ ไปอีกด้วย ช่างเอาใจใส่กันซะจริงๆ
เรียวกังส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการรวมค่าห้องพักกับอาหาร 2 มื้อ คือมื้อค่ำกับมื้อเช้า ถ้าเป็นเรียวกังแบบออริจิแล้วละก็ อาหารจะมาแบบ Full-course และถูกเสิร์ฟแบบ Exclusive ชนิดที่ว่าเสิร์ฟถึงห้องพักกันเลยทีเดียว คนญี่ปุ่นเรียกการบริการแบบนี้ว่า Heya-shoku แสดงถึงความเอาใจใส่ในการต้อนรับขับสู่ของชาวญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับโรงแรมแบบตะวันตกที่มักจะคิดค่าห้องพักรวมกับอาหารเช้าเท่านั้น
เรียวกังนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยนารา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตระหว่างการเดินทางอันยากลำบาก พระสงฆ์สมัยนั้นจึงจัดที่พักให้กับนักเดินทางโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรียกว่า Fuseya และเมื่อการคมนาคมพัฒนาขึ้น ที่พักแรมก็ถูกพัฒนาขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีระบบ Ritsuryo ซึ่งเป็นการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง จึงเกิด Umaya หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะสำหรับนักเดินทางขึ้น ต่อมาผู้คนนิยมการแสวงบุญกันมากในสมัยเฮอัน ที่พักในวัดที่เรียกว่า Shukubo จึงเกิดขึ้น และเริ่มมีบริการที่พักราคาถูกในสมัยคามาคูระ เรียกว่า Kichin-yado (ที่พักไม่รวมอาหาร จะทำอาหารกินเองก็ได้ แต่คิดค่าฟืน)
ในสมัยเอโดะทางหลวงถูกสร้างขึ้น การค้าเจริญขึ้น พ่อค้าก็ต้องเดินทาง ที่พักแบบ Hatago (ที่พักรวมอาหาร) จึงถูกสร้างขึ้น แล้วเมื่อมีระบบโชกุน ผู้ครองเมืองต่างๆ ก็ต้องเดินทางมาพักที่เมืองหลวง
ที่พักสำหรับ Daimyo หรือ Honjin และ Waki-honjin จึงเกิดขึ้นตามจุดแวะพัก หรือ Post town ตลอดทางหลวง กลายเป็นเรียวกังระดับ Deluxe ในสมัยเอโดะนั่นเอง และต่อมาที่พักแบบต่างๆ ถูกพัฒนาให้เป็นเรียวกังอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน พอหลังสงคราม ญี่ปุ่นก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการท่องเที่ยว มีการสร้างเรียวกังตามแหล่งท่องเที่ยว และออนเซนเรียวกังก็บูมขึ้นอย่างมากด้วย
จริงๆ แล้วเรียวกังมีหลายแบบ ถ้าอยากพักเรียวกังแบบดั้งเดิม สร้างมานาน แบบโบราณ มีตำนาน หรือมีอายุกว่าร้อยปี มักจะพบได้ตามเมืองหลวงเก่าอย่างนาราและเกียวโต หรือไม่ก็ตามแหล่งน้ำพุร้อนเก่าแก่ ซึ่งยังคงอนุรักษ์โครงสร้างแบบเดิมๆ เอาไว้ และให้บริการอย่างเต็มที่ที่สุดเมื่อเทียบกับเรียวกังญี่ปุ่นทั่วๆ ไป แล้วก็มักจะมีนักเขียน ศิลปิน หรือผู้มีชื่อเสียงเข้าพักอยู่เสมอ เรียวกังประเภทนี้มีจำนวนไม่มาก ที่เกียวโตถึง 3 แห่งที่รักษามาตรฐานเรียวกังชั้นเลิศไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และได้รับนิยมมากที่สุด ถึงจะไม่มีออนเซนก็ตาม นั่นคือ Sumiya,Tawaraya, และ Hiiragiya
แต่ถ้าเป็นออนเซนเรียวกัง เรียวกังแบบที่นิยมกันมากที่สุด ก็พบเห็นได้ทั่วไป…ญี่ปุ่นมีแหล่งน้ำพุร้อนมากกว่า 3,000 แห่ง แต่ละแห่งก็มีความแตกต่างทั้งสี กลิ่น ความเข้ม และคุณสมบัติ เวลาจะเลือกออนเซนเรียวกัง จึงควรเช็คไว้ก่อน ถ้าอยากแช่ออนเซนชั้นยอด ก็ควรเลือกเรียวกังที่อยู่ใกล้ๆ กับตาน้ำพุร้อน จะได้น้ำที่สด สะอาด แรง และมีปริมาณเหลือเฟือ คนที่ชอบการแช่ออนเซนอย่างจริงจังรู้ดีว่ามันช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าและละลายความเครียด
ยิ่งกว่านั้นถ้าได้เปิดอก (จริงๆ แล้วก็เปิดหมดแหล่ะ) พูดคุยกันแบบสบายๆ ตอนที่กำลังแช่น้ำแร่คุณภาพดีที่ Rotenburo (open-air bath) ชมวิวสวยๆ ไม่ว่าจะเป็นวิวของทุ่งหญ้า ภูเขา หุบเขา แม่น้ำ ทะเล ท้องฟ้า ใบไม้เปลี่ยนสี หรือหิมะตก ฟังเสียงธรรมชาติรอบตัว ทั้งเสียงน้ำ เสียงนก เสียงลม หรือเสียงไม้ไผ่ที่เสียดสีกัน ใครๆ ก็หลงรักออนเซนเรียวกังได้ไม่ยาก
ปัจจุบันนี้มีเรียวกังสมัยใหม่ที่ใหญ่ ทันสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งแบบที่มีบริการออนเซนและแบบที่ไม่มี การเลือกเรียวกังแบบนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่รักความสะดวกสบาย และต่อให้เป็นเรียวกังสมัยใหม่ ก็ยังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบชาวญี่ปุ่นขนานแท้ให้เห็น
ไปญี่ปุ่นคราวหน้า อย่าลืมนึกถึงที่พักแบบญี่ปุ่นขนานแท้และดั้งเดิมกันนะ แล้วคุณจะหลงรักเสน่ห์ของเรียวกัง^^
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– ชมดอกบ๊วยบานที่ญี่ปุ่น (Ume blossoms)
– ชมดอกไม้ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นดอกบ๊วย ดอกท้อ หรือ “ดอกซากุระ” กันแน่?
– เที่ยวญี่ปุ่นฤดูหนาว (Japan Winter) ในภูมิภาคต่างๆ
– Onsen สัมผัสไออุ่นแห่งน้ำพุร้อนญี่ปุ่น
– ถึงเวลาไปชมใบไม้เปลี่ยนสีที่ญี่ปุ่นกันแล้ว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://www.go-nagano.net
http://www.japan-guide.com/e/e6025.html
http://www.tripadvisor.jp
#Ryokan #เรียวกัง