เที่ยว Saitama : วันนี้เราจะพาไปเที่ยวและทำความรู้จักกับ “วิหารใต้พิภพ” เทพผู้พิทักษ์ใกล้ๆ โตเกียว ตัวช่วยที่ลดความเสี่ยงให้กับเมืองหลวงของญี่ปุ่น ในเรื่องเกี่ยวกับ..น้ำท่วม!
วันนี้เราจะพาไปเที่ยวและทำความรู้จักกับ “วิหารใต้พิภพ” ตัวช่วยที่ลดความเสี่ยงให้กับเมืองหลวงของญี่ปุ่น ในเรื่องเกี่ยวกับ..น้ำท่วม!
หลังพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 19 หรือฮากิบิส (Hagibis) พัดผ่านภูมิภาคคันโตไป หลายๆ พื้นที่เกิดเหตุน้ำท่วม เสียหายเป็นอย่างหนัก และตัวเลขความเสียหายคงจะพุ่งไม่หยุดแน่ๆ หากจุดที่น้ำท่วมนั้น เกิดขึ้นที่กรุงโตเกียวอันเป็นศูนย์กลางของทุกๆ อย่างในภูมิภาคคันโตแห่งนี้
ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินกว่าจินตนาการได้ ทำให้หลายๆ คนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่ามหานครแห่งนี้ จะจมน้ำหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดทางด้านชานเมืองโตเกียวก็หลบหนีภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ได้ ซึ่งความดีความชอบทั้งหมดถูกยกให้กับ “วิหารใต้ดิน” อุโมงค์น้ำขนาดยักษ์ที่คอยระบายน้ำอย่างขยันขันแข็ง จนเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก
และในวันนี้น้ำแห้งลงแล้ว เราเลยมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมวิหารใต้ดินผู้พิทักษ์ภัยน้ำท่วมใกล้ๆ โตเกียวด้วย
สมกับฉายา “วิหารใต้ดิน”
Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel (首都圏外郭放水路) หรือฉายาว่า วิหารใต้ดิน ที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่า น่าจะต้องอยู่ใต้กรุงโตเกียวแน่ๆ แต่ที่จริงแล้ว.. เทพผู้พิทักษ์องค์นี้อยู่ที่เมือง Kasukabe จังหวัด Saitama ซึ่งเป็นที่เดียวกับบ้านเกิดของชินจัง (การ์ตูน)
เรียกได้ว่า วิหารแห่งนี้ เฝ้าดูกรุงโตเกียวอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ นั่นเอง อุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2006 และจากที่เห็นตามหน้าสื่อกันมานาน หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ มีการเปิดให้เข้าชมด้วยนะ
การเข้าชมมีคอร์สให้เลือกอยู่ 3 แบบด้วยกันก็คือ ลงไปวิหารใต้ดินอย่างเดียว 1,000 เยน (เหมาะสำหรับการลงไปถ่ายรูปอย่างเดียว), คอร์สชมวิหารใต้ดินและดูการทำงานของปั๊มน้ำขนาดมหึมา 2,500 เยน และสุดท้าย คอร์สวิหารใต้ดินและ ปล่องน้ำยักษ์ที่ลึกสุดใจ 3,000 เยน
เราเลือกคอร์สสุดท้าย เพราะอยากรู้ว่าคนกลัวความสูงจะสามารถไปยืนชะโงกดูได้ไหมนะ .. หาเรื่องใส่ตัวนั่นเอง (^^)”
การเดินทางของเราเริ่มต้นที่อาคารหลัก โดยเริ่มจากการฟังบรรยายเกี่ยวกับข้อมูลของระบบระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งคนต่างชาติอาจจะฟังทรมานหูนิดนึง เพราะทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น ฮ่าๆ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้มีแอพพลิเคชั่นนานาภาษาให้เราดาวน์โหลด ซึ่งจะมีภาษาอีก 3 ภาษาช่วยอำนวยความสะดวกได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (ทั้งจีนประยุกต์และจีนดั้งเดิม) สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่หน้าแรก!
https://www.gaikaku.jp/news_list/news_1548/
จากนั้นก็ไปเยี่ยมชมศูนย์บัญชาการ ที่วิหารใต้ดินนี่ ก็ถูกใช้ถ่ายทำภาพยนตร์หรือมิวสิควีดีโออยู่บ่อยๆ เช่นกัน ณ ส่วนนี้ถ้าใครฟังแล้วงงๆ ไม่เข้าใจก็จะมี App ให้ดาวน์โหลดไปศึกษาเพิ่มกันได้จ้า
กลไกดูซับซ้อน ยากซะเหลือเกินฮ่าๆ แต่มีภาษาอังกฤษช่วยกำกับไว้ด้วยนะ
ก็พอมีภาษาอังกฤษอธิบายอยู่บ้าง
โมเดลอย่างละเอียด
ศูนย์บัญชาการ
มี App อธิบายเพิ่มเติมเป็นภาษาต่างๆ (ยังไม่มีภาษาไทยนะ)
สแกนเลย!
จุดหมายต่อไป เราต้องย้ายตึกกันสักหน่อย เพื่อลงไปยังส่วนที่เป็นวิหารใต้ดิน ด้วยความสูงกว่า 20 เมตร จึงต้องเดินลงบันไดกันเหนื่อยเล็กน้อย
แล้วในที่สุด เราก็ได้พบกับเสาต้นยักษ์ที่เรียงรายอยู่ในพื้นที่ 78 x 177 เมตร ที่ทำหน้าที่คอยเก็บกักน้ำปริมาณมหาศาลนั่นเอง สวยและสง่างามสมกับที่เค้าเรียกว่าวิหารใต้พิภพจริงๆ
เราได้ถ่ายรูปอยู่ตรงนี้สักพักแล้วก็ต้องย้ายไปยังจุดหมายต่อไป ปล่องน้ำยักษ์ที่มีความลึก 70 เมตร
จุดนี้จะแจ้งถึงระดับน้ำปกติที่จะเริ่มระบายน้ำ
แม้บางครั้งน้ำจะยังไม่ถึงระดับ ก็อาจมีการระบายได้เช่นกัน
จากตรงนี้ จะแอบเห็นปล่องน้ำยักษ์ แว่บๆ
ก่อนการจะเยี่ยมชมปล่องน้ำยักษ์นั้น จะต้องมีการเตรียมตัวเล็กน้อย โดยการใส่หมวกนิรภัยและเข็มขัดเซฟตี้ เพื่อจะนำไปเกี่ยวกับรางรอบๆ ปล่อง
ถึงตอนนี้ เริ่มใจไม่ดีและอุปกรณ์ยิ่งเยอะยิ่งเสียว ยังไงชอบกล
เมื่อลงไปยังปากปล่องน้ำยักษ์ ความรู้สึกแรกคือ…มันใหญ่มาก มันลึกมาก และในฐานะคนกลัวความสูง ตอนนี้ขาสั่นไปหมดแล้วจ้า กว่าจะเดินครบรอบความกว้าง 30 เมตร ถึงกลับเสียเหงื่อไปเป็นจำนวนมาก
และตรงจุดนี้นี่เอง ที่เป็นจุดระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำเอโดะกาวะ (Edogawa) ซึ่งจะไหลไปลงอ่าวโตเกียวในเวลาต่อมา
เมื่อชมเสร็จสมใจอยากแล้ว เราก็ย้อนกลับไปยังจุดแรก ใช้เวลาโดยรวมของคอร์สนี้ อยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
สวมหมวกก่อนลง
ความปลอดภัยแน่นหนา
ต้องเดินวนรอบนี้แล้ว และลงบันไดไปสู่ชั้นที่ 1
อย่างลึก! กว่าจะได้รูปนี้ ขาสั่นมาก
บันไดมีความไล่สี ส่วนที่สีซีดคือส่วนที่ต้องแช่น้ำบ่อยๆ

มีการปล่อยให้เดินลงบันไดจนถึงช่วงกลางๆ ของปล่อง
“วิหารใต้พิภพ” แห่งนี้ ถือเป็นจุดถ่ายรูปที่สวยมากๆ และถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่มีการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปทัศนศึกษาด้วย
การเดินทาง มาเยี่ยมชมอุโมงค์ยักษ์นี้ สามารถทำได้โดยการขึ้นรถบัสจากสถานี Kasukabe ฝั่งตะวันออก มาลงที่ป้าย Ryu Q Kan (龍Q館) ได้เลยจ้า
ที่นี่เปิดทำการ เวลา 09.30 – 16.00 น. สามารถตรวจสอบรายละเอียดของแต่ละคอร์สและข้อมูลอื่นๆ (มีภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาจีน) เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.gaikaku.jp/course/
ตารางรถจ้า
เรื่องแนะนำ :
– “วิหารใต้พิภพ” ว่าด้วยอุโมงค์น้ำยักษ์ของญี่ปุ่น
– การบริหารจัดการน้ำแบบญี่ปุ่น
– 10 สิ่งที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อไปไซตามะ (Saitama)
– เที่ยว Saitama : MOOMINVALLEY PARKหมู่บ้านของมูมิน ที่คนไม่อิน ก็ไปได้!!
– เที่ยว Saitama กับสองสาว เบลล์และฟรัง ตอนที่ 1 “ชิม ชม ชวน”
#saitama #วิหารใต้พิภพ